คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2945/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะพาไปส่งที่ศาลากลางจังหวัดเมื่อผู้เสียหายเชื่อตามคำหลอกลวง จำเลยกลับพาผู้เสียหายไปอีกที่หนึ่งแล้วกระทำอนาจารผู้เสียหาย เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะพาผู้เสียหายไปกระทำอนาจารซึ่งเป็นความประสงค์มาตั้งแต่แรกจึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 284,90 ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278, 284 วรรคแรก ที่แก้ไขแล้วให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุก3 ปี ฐานกระทำอนาจาร จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี คำรับในชั้นจับกุมและสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10เมษายน 2533 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ผู้เสียหายออกจากบ้านที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปเที่ยวงานที่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง ต่อมาเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ของวันที่ 11 เมษายน 2533ขณะที่ผู้เสียหายนั่งรอรถที่สามแยกท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุงเพื่อกลับบ้าน จำเลยขับรถยนต์สามล้อรับจ้างผ่านมาและหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะพาไปส่งที่บริเวณงานหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุงเมื่อผู้เสียหายขึ้นรถตามคำหลอกลวงจำเลยกลับพาผู้เสียหายไปที่โรงเรียนวัดนางลาด ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุงแล้วกระทำอนาจารผู้เสียหาย มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะพาไปส่งที่บริเวณงานหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง แล้วพาไปกระทำอนาจาร เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาจะพาผู้เสียหายไปกระทำอนาจารซึ่งเป็นความประสงค์มาตั้งแต่แรกแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงต่อเนื่องกันมาตลอดโดยไม่ขาดตอน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท…”
พิพากษายืน.

Share