คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4943/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด หรือบัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งคดีนี้ได้แก่บทบัญญัติความผิดฐานชิงทรัพย์และบทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ ป.อ. มาตรา 94 บัญญัติไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 แต่ภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 94 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในมาตรา 94 กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันต่างกันแต่เพียงเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่จำเลยอ้างว่าขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยมีอายุเพียง 17 ปีเศษ และขณะที่จำเลยกำลังรับโทษในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อนั้น มีการแก้ไข มาตรา 94 ซึ่งบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด เนื่องจากศาลไม่อาจเพิ่มโทษในคดีนี้ได้นั้น แม้คดีนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ ป.อ. มาตรา 3 (1) บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในกรณีที่จำเลยยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังรับโทษในคดีหลังอยู่ถ้าสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยให้ได้ข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าเป็นไปตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2543 ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก วรรคสอง และมาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท เพิ่มโทษจำคุกจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน และปรับ 50 บาท ให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1376/2543 และหมายเลขแดงที่ 2409/2543 ของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนคำขอให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 10321/2542 ของศาลชั้นต้น นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอนับโทษต่อในส่วนนี้คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1376/2543, 2409/2543, 2411/2543, 7221/2543 และ 10648/2543 ของศาลชั้นต้น โดยในคดีนี้ (คือคดีหมายเลขแดงที่ 2410/2543 ของศาลชั้นต้น) และคดีอาญาของศาลชั้นต้นอีก 5 สำนวนดังกล่าว รวมเป็น 6 สำนวน โจทก์มีคำขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 11 เดือน ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2717/2541 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางและพ้นโทษเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2542 แล้วจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีอาญาทั้งหกสำนวนดังกล่าวภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามคำขอของโจทก์ทุกสำนวนและพิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยทั้งหกสำนวนเรียงกันไปตามลำดับ ขณะนี้จำเลยรับโทษจำคุกมาแล้ว 17 ปี 5 เดือน โดยพ้นโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1376/2543 และ 2409/2543 แล้ว และอยู่ระหว่างถูกจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2410/2543 (คือคดีนี้) และยังไม่ได้รับโทษจำคุกอีก 3 คดี คือ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2411/2543, 7221/2543 และ 10648/2543 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 3 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่จำเลย โดยไม่ให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้เคยต้องโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2717/2541 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มาก่อน ทั้งขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีดังกล่าว จำเลยอายุยังไม่เกิน 18 ปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ห้ามมิให้นำเอาการกระทำความผิดในคดีดังกล่าวของจำเลยมาเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลย กฎหมายทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง และเป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และมาตรา 3 จึงไม่อาจนำเอาการกระทำความผิดและการต้องโทษจำคุกของจำเลยในคดีดังกล่าวมาเป็นเหตุเพิ่มโทษจำเลยได้อีกต่อไป ขอให้งดการเพิ่มโทษจำเลย และกำหนดโทษจำคุกกับออกหมายจำคุกแก่จำเลยใหม่โดยไม่มีการเพิ่มโทษทั้งหกสำนวนรวมทั้งคดีนี้ด้วย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลย และคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว และกรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ซึ่งเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมาใช้บังคับได้ จึงไม่มีเหตุต้องเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขหมายจำคุกให้แก่จำเลยใหม่ และไม่มีผลถึงคดีต่าง ๆ ตามคำร้องของจำเลย ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะงดการเพิ่มโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่กรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง…ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง…” ดังนี้ คำว่า กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด หรือบัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งในคดีนี้ได้แก่บทบัญญัติความผิดฐานชิงทรัพย์และบทบัญญัติตามมาตรา 92 อันเป็นบทกฎหมายให้เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดอีก หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดและมีผลที่จะทำให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 นั้น แต่บทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 เป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้ให้ถือว่าผู้ต้องโทษในความผิดต่าง ๆ ที่ได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และพ้นโทษไปแล้วก่อนหรือวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ มิเคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ อันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่กระทำความผิดเป็นราย ๆ ไปที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องที่มีการแก้ไขกฎหมายตามความหมายในมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด กรณีมิใช่เป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้หลังกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดดังที่จำเลยอ้าง ศาลจึงไม่อาจนำมาตรา 3 มาปรับใช้ในคดีนี้ได้เนื่องจากคดีของจำเลยถึงที่สุดไปก่อนที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จะมีผลใช้บังคับแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่งดเพิ่มโทษจำเลยและไม่กำหนดโทษจำเลยใหม่ โดยอาศัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 นั้น จึงชอบแล้ว
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้โดยเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ซึ่งขณะจำเลยกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94 บัญญัติไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 แต่ภายหลังพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 8 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในมาตรา 94 กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันต่างกันแต่เพียงเกณฑ์อายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ให้ถือว่าความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในมาตรา 92 ดังนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่จำเลยอ้างว่าขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2717/2541 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จำเลยมีอายุเพียง 17 ปีเศษ และขณะที่จำเลยกำลังรับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1376/2543 ของศาลชั้นต้น มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94 อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด ซึ่งบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 เนื่องจากศาลไม่อาจเพิ่มโทษในคดีหลังได้ ดังนั้น แม้คดีหลังจะถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในกรณีที่จำเลยยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังรับโทษในคดีหลังอยู่ถ้าสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยให้ได้ข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2717/2541 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนั้น จำเลยมีอายุต่ำกว่า 18 ปี จริงหรือไม่ และขณะที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 จำเลยกำลังรับโทษหรือยังไม่ได้รับโทษในคดีที่จำเลยกล่าวอ้างจริงหรือไม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลย แล้วมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share