คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่3และจำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ในเรื่องละเมิดชำระค่าเสียหาย20,000บาทแก่โจทก์จำเลยที่3และจำเลยร่วมอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิได้อุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัยจำเลยที่3และจำเลยร่วมมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ถูกต้องอย่างไรกลับฎีกาว่าจำเลยที่3และจำเลยร่วมมิได้ทำละเมิดซึ่งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่1และที่3ร่วมกับจำเลยที่2ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงที่จำเลยที่1จะขายให้แก่น.ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของน.เสียเปรียบและจำเลยดังกล่าวร่วมกันจัดการให้จำเลยที่4เป็นทนายให้จำเลยที่2ฟ้องจำเลยที่1ให้โอนที่ดินและรีบเร่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อมาได้มีการเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยโจทก์อ้างว่าจำเลยร่วมได้ร่วมกระทำการดังกล่าวกับจำเลยทุกคนด้วยซึ่งเป็นการแสดงเหตุว่าฟ้องจำเลยร่วมได้การบรรยายดังกล่าวมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแจ้งชัดที่สามารถเข้าใจได้ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่1ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับน. โดยมิได้กำหนดเวลากันไว้น.ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่1แล้วแล้ว200,000บาทคงค้างชำระอีก190,000บาทเมื่อน.ถึงแก่กรรมจำเลยที่1ได้บอกกล่าวให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของน.ชำระค่าที่ดิน290,000บาทและรับโอนที่ดินในวันที่7กรกฎาคม2532หากโจทก์ไม่จัดการภายในกำหนดดังกล่าวจำเลยที่1ขอบอกเลิกสัญญาดังนี้เมื่อปรากฏว่าคดีที่โจทก์ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของน.ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและคดีถึงที่สุดตั้งแต่วันที่8มิถุนายน2532แต่โจทก์เพิ่งไปขอรับคำสั่งศาลในวันที่20กรกฎาคม2532ถือว่าโจทก์ได้ปล่อยปละละเลยไม่ขอรับคำสั่งศาลในเวลาอันสมควรจะยกเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้อย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่1ขอให้โจทก์ชำระราคาที่เหลือ290,000บาททั้งๆน.ค้างชำระเพียง190,000บาทโจทก์ย่อมอ้างเหตุที่จะไม่ปฏิบัติตามได้ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาจำเลยที่1ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่รับชำระไว้และถือว่าสัญญาจะซื้อขายยังมีผลผูกพันอยู่เมื่อจำเลยที่1เอาที่ดินพิพาทไปทำสัญญาจะขายให้แก่จำเลยที่2ย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์แต่ขณะทำนิติกรรมนั้นจำเลยที่2มิได้รู้ความจริงในเรื่องนี้โจทก์ย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้และการกระทำของจำเลยที่1ดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาอันเป็นการผิดสัญญาเท่านั้นยังมิใช่เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา420จึงไม่เป็นละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1384 ให้นางนาค ทับกระโซ่ในราคา 390,000 บาท ชำระราคาในวันทำสัญญาจำนวน 100,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระภายหลัง และเมื่อชำระครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1จะจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้ ต่อมานางนาคได้ชำระราคาอีกจำนวน 100,000 บาท ครั้นนางนาคได้ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งดังกล่าวทายาทของนางนาคได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจะชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแล้วโดยจะนำคำสั่งศาลไปถอนเงินของนางนาคซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารมาชำระ จำเลยที่ 1 ยินยอม แต่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน2532 จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระราคาที่ดินที่เหลืออ้างว่าจำนวน 290,000 บาท ภายในวันที่7 กรกฎาคม 2532 ซึ่งโจทก์ไม่อาจปฏิบัติได้ เนื่องจากโจทก์เพิ่งได้รับสำเนาคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่20 กรกฎาคม 2532 ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2532 จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันจัดทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่สุจริตโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ แล้วร่วมกันจัดให้จำเลยที่ 4 เป็นทนายให้จำเลยที่ 2ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง คือ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1808/2532ของศาลชั้นต้น แล้วรีบทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยสมยอมกันเพื่อฉ้อฉลโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ ทั้งการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย มุ่งหวังมิให้โจทก์บังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อขายได้ หรือใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน100,000 บาท ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1384 ตำบลหนองระเวียงอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 190,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอันเกิดจากการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครอง หากไม่อาจปฏิบัติได้ด้วยประการใด ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 216,931.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 200,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า ในการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับนางนาคนั้น นางนาคได้วางมัดจำไว้จำนวน 100,000 บาท แล้วให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ในกระดาษเปล่าต่อมาได้นำไปกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระราคาอีกจำนวน100,000 บาท หลังจากนางนาคถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนาคชำระราคาส่วนที่เหลือแต่โจทก์แจ้งว่าไม่ต้องการซื้อที่ดินพิพาท จำเลยที 1 จึงได้มอบให้จำเลยที่ 3 มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระราคาส่วนที่เหลือและรับโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2532มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญา ซึ่งโจทก์ผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องจำเลยที่ 12 ฐานผิดสัญญา จำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่อาจสู้คดีได้จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 สัญญาจะซื้อขายและสัญญาประนีประนอมยอมความทำโดยสุจริต ไม่ได้เป็นการฉ้อฉลโจทก์จำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้จำเลยที่ 4เป็นทนายให้จำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 และมิได้รู้เห็นในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ทั้งฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ร่วมกันหรือร่วมกับจำเลยอื่นกระทำการใดอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายอรรคเดชจำเนียรพันธุ์ เข้าเป็นจำเลยร่วมโดยอ้างว่า ปรากฏตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 3 และนายอรรคเดชเป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฉ้อฉลโจทก์โดยจัดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ทำสัญญาจะซื้อขายเพื่อใช้อ้างเป็นหลักฐานสมยอมฟ้องเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1808/2532 ของศาลชั้นต้น แล้วขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมไม่ได้สมคบกับจำเลยทั้งสี่กระทำการอันเป็นการละเมิดหรือฉ้อฉลของโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะตามคำฟ้องและคำร้องขอให้หมายเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจำเลยร่วมได้สมคบกับจำเลยทั้งสี่กระทำการอย่างใดอันเป็นการฉ้อฉลหรือละเมิดโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1384ตำบลหนองระเวียง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 21สิงหาคม 2532 แล้วให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินที่เหลือจำนวน 190,000 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอันเกิดจากการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครอง หากไม่อาจปฏิบัติได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 216,931.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์
จำเลย ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และ จำเลยร่วม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และให้ยกคำขอบังคับเฉพาะเรื่องให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2กับคำขอบังคับเรื่องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และรับเงินที่เหลือจำนวน 190,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลย ที่ 1 ที่ 3 และ จำเลยร่วม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่23 กันยายน 2531 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.3 จะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เนื้อที่8 ไร่ 1 งาน ให้แก่นางนาค ทับกระโซ่ ในราคา 390,000 บาทโดยชำระราคาในวันทำสัญญา 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นางนาค วันที่ 8 เมษายน 2532นางนาคถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางนาค เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2532 ครั้นวันที่ 15 มิถุนายน2532 จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดิน 290,000 บาท และให้โจทก์รับโอนสิทธิครอบครองในวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่21 สิงหาคม 2532 จะจดทะเบียนโอนในวันที่ 5 กันยายน 2532 ครั้นวันที่ 26 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา วันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 1 ยอมโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2ภายใน 7 วัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
คดีนี้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยร่วมฎีกา โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันฉ้อฉลและจำเลยที่ 2 ไม่สุจริตขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยร่วมฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในส่วนที่กล่าวหาว่าจำเลยทำละเมิด โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยร่วมมิได้ทำละเมิด โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในเรื่องละเมิดเป็นค่าเสียหาย 20,000 บาท จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร กลับฎีกาว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมมิได้ทำละเมิดซึ่งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยร่วมที่ศาลฎีการับวินิจฉัยจะได้วินิจฉัยรวมกันไป ปัญหาประการแรกมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 กับจำเลยร่วมต่อสู้คดีและฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยอื่นกระทำการเช่นใดอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงที่จำเลยที่ 1จะขายให้แก่นางนาค ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางนาคเสียเปรียบ และจำเลยดังกล่าวร่วมกันจัดการให้จำเลยที่ 4 เป็นทนายให้จำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินและรีบเร่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ต่อมาได้มีการเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยร่วมได้ร่วมกระทำการดังกล่าวกับจำเลยทุกคนด้วย ซึ่งเป็นการแสดงเหตุว่าฟ้องจำเลยร่วมได้ การบรรยายดังกล่าวมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแจ้งชัดที่สามารถเข้าใจได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์ผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 มีสิทธิริบเงินที่รับชำระไว้หรือไม่ ส่วนตามฎีกาโจทก์มีว่า มีเหตุเพิกถอนสัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาหรือไม่ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1และนางนาคได้ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.3 รายละเอียดในสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่นางนาค แต่คู่ความรับกันว่าจะจดทะเบียนภายหลัง จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายซึ่งในสัญญาไม่ได้กำหนดเวลากันไว้ ระหว่างที่ยังไม่ได้โอนที่ดินและยังไม่ได้ชำระเงินที่ค้างชำระ นางนาคได้ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อให้โจทก์ชำระเงินและรับโอนที่ดิน แต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินและรับโอนที่ดิน ผลสุดท้ายจำเลยที่ 1 ได้มอบให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทนายบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าที่ดิน 290,000 บาท และรับโอนที่ดินในวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 หากโจทก์ไม่จัดการภายในกำหนดดังกล่าวจำเลยที่ 1 ขอบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.3 โจทก์มิได้จัดการตามหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ 1 กรณีเช่นนี้โจทก์ผิดสัญญาหรือไม่โจทก์อ้างว่าไม่ได้ผิดสัญญา แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเองเพราะขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกและจำเลยที่ 1 จะขอรับชำระราคาที่ดินจำนวน 290,000 บาท ซึ่งความจริงจำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับเพียง 190,000 บาท เพราะรับชำระไปแล้ว 200,000 บาท มิใช่ 100,000 บาท อย่างที่จำเลยที่ 1อ้าง ในเรื่องจำนวนเงินที่ชำระ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่านางนาคชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว 200,000 บาทยังเหลือเงินที่จะต้องชำระอีก 190,000 บาท จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฉะนั้นเหตุที่โจทก์อ้างว่าไม่ผิดสัญญาเนื่องจากยังไม่ได้รับคำสั่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางนาคผู้จะซื้อที่ดิน และจำเลยที่ 1 เรียกให้ชำระเงินเกินความจริงในเรื่องไม่ได้รับคำสั่งเป็นผู้จัดการมรดกจากศาลชั้นต้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 8มิถุนายน 2532 แล้ว จากนั้นโจทก์ควรจะขอคำสั่งศาลชั้นต้นได้เพราะคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต้องใช้มาตรา 188 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีกรณีจะต้องอุทธรณ์ฎีกา เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะให้อุทธรณ์ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว คดีตั้งผู้จัดการมรดกจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2532 ตามมาตรา 147 โจทก์ไปขอรับคำสั่งศาลชั้นต้นในวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 นับว่าโจทก์ได้ปล่อยปละละเลยไม่ขอรับคำสั่งศาลชั้นต้นในเวลาอันสมควร จะยกเป็นข้อแก้ตัวแล้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีเหตุที่จำเลยที่ 1ขอให้โจทก์ชำระราคาที่เหลือ 290,000 บาท เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าค้างชำระเพียง 190,000 บาท โจทก์จึงไม่ยอมปฏิบัติตามเพราะไม่ตรงกับความเป็นจริง โจทก์ย่อมอ้างเหตุที่จะไม่ปฏิบัติตามได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่รับชำระไว้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายยังมีผลผูกพันอยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 เอาที่ดินพิพาทไปทำสัญญาจะขายผู้อื่น ย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนโจทก์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้หรือไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 ผู้จะซื้อที่ดินรู้ถึงความจริงเรื่องนี้หรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้เรื่องนี้แต่โจทก์ไม่มีพยานใดเบิกความสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้เรื่องอยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะขายที่ดินพิพาทให้แก่นางนาคคงมีแต่จำเลยที่ 4 และนายจิตร อยู่อุ่นพะเนาว์ โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 บอกให้ช่วยเขียนสัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 3 จึงให้พยานฟ้องคดี คำเบิกความดังกล่าวมิได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เรื่องการซื้อขายระหว่างนางนาคกับจำเลยที่ 1 ส่วนนายจิตรเบิกความว่า เมื่อต้นปี2532 มีหญิงคนหนึ่งพยานไม่รู้จักแต่ทราบชื่อภายหลังว่านางมณีไปพบพยานซึ่งเป็นกำนันตำบลระเวียง ขอให้เซ็นชื่อรับรองว่าน.ส.3 หาย พยานไม่ยอมรับรอง นางมณีไปร้องต่อนายอำเภอเมืองนครราชสีมา นายอำเภอเรียกไปสอบถามและให้ดูเอกสารหมายจ.1 และจ.2 พยานบอกว่าเคยทำสัญญาที่ดินแปลงนี้ระหว่างจำเลยที่ 1กับนางนาค ตามคำเบิกความของพยานดังกล่าวเพียงแต่แสดงว่าถ้านางมณีคือจำเลยที่ 2 จะรู้เรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางนาค ก็คงรู้ในตอนที่ไปพบพยาน ซึ่งพยานว่าเป็นต้นปี2532 ถ้าเป็นต้นปี 2532 ก็เป็นการรู้ก่อนที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันในวันที่ 21 สิงหาคม2532 แต่เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของนายจิตรประกอบกับเอกสารในคดีปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตกลงประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีนี้จึงไปขอออกใบแทน น.ส. 3 ก.ที่ดินพิพาท ทางอำเภอเมืองนครราชสีมาได้ประกาศเรื่องออกใบแทนเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.2 ผู้ทำการแทนนายอำเภอได้มีหนังสือลงวันที่ 3 มกราคม 2533 ส่งให้กำนันตำบลระเวียงคือนายจิตรช่วยปิดประกาศตามเอกสารหมาย จ.1 แต่นายจิตรไม่ได้จัดการให้ จำเลยที่ 2 จึงได้ต่อนายอำเภอเมืองนครราชสีมาตามเอกสารหมาย ล.9 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2533 จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ไปพบนายจิตรได้อย่างเร็วในวันที่ 3 มกราคม 2533หรือหลังจากนั้น ในขณะนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาจะซื้อขายจนมีการฟ้องคดี และศาลพิพากษาบังคับให้โอนกันแล้ว ถึงหากจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เคยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับนางนาคก็เป็นเวลาภายหลัง จากที่จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีพยานที่รู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบเรื่องสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางนาคกับจำเลยที่ 1 ก่อนที่จำเลยที่ 2จะทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 ส่วนพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมโดยรวดเร็วก็ไม่อาจชี้ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบเรื่องสัญญาระหว่างนางนาคกับจำเลยที่ 2 ก่อนแล้วจึงไม่มีเหตุเพิกถอนการฉ้อฉล
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาจำเลยที่ 1 มีว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังที่วินิจฉัยมาแล้วเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาอันเป็นการผิดสัญญาเท่านั้นยังมิใช่เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จึงไม่เป็นละเมิด โจทก์มิได้เรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา แต่เรียกค่าเสียหายฐานละเมิด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดจำนวน 20,000 บาทแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอเฉพาะที่บังคับให้จำเลยที่ 1ชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share