คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4939/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ไม่ริบรถยนต์ของกลางที่ใช้ขนสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่ริบรถยนต์ของกลางตามประสงค์ของจำเลยซึ่งเท่ากับจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์แล้วแม้จำเลยจะไม่เห็นพ้องด้วยกับเหตุผลในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แต่ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็มิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่ของจำเลยประการใดจำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) แต่เห็นว่ายังไม่สมควรริบพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบรถยนต์ของกลาง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่าความผิดฐานขนสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 14นั้นเป็นความผิดเพราะไม่ได้รับใบอนุญาตขนสุราจากเจ้าพนักงานรถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำผิด และมาตรา 38 ทวิแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้กำหนดโทษให้ริบของกลางหรือให้ริบรถยนต์ซึ่งใช้บรรทุกหรือขนสุราด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด และศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)เป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์ไม่ริบรถยนต์ของกลาง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาแก้เป็นไม่ริบรถยนต์ของกลางตามประสงค์ของจำเลยแล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์แม้จำเลยจะไม่เห็นพ้องด้วยกับเหตุผลในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็มิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่ของจำเลยประการใด จำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share