แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีประเด็นว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือทำร้ายผู้บังคับบัญชาอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และโจทก์ทำร้าย ป.ผู้บังคับบัญชาของโจทก์เนื่องจากถูก ป.ตำหนิเกี่ยวกับการทำงาน จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็น แต่ที่วินิจฉัยต่อไปว่าการที่โจทก์ทำร้ายร่างกาย ป.ดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) ซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และที่วินิจฉัยว่าพฤติการณ์น่าเชื่อว่าโจทก์มีเจตนาทำร้ายร่างกาย ป.ผู้บังคับบัญชานั้น ศาลแรงงานกลางก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องนี้มีว่าอย่างไร และไม่ปรากฏว่าคู่ความได้อ้างส่งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อศาล จึงเป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการพิจารณาพิพากษา มีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจำเลย ได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเป็นกรณีร้ายแรง โดยทุจริตต่อหน้าที่ทำร้ายผู้บังคับบัญชา ชกต่อยผู้ร่วมงาน หยุดงานและมาทำงานสายบ่อย ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทำร้ายนายประณตเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะตามประเด็นข้อที่ ๑ ที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดไว้มีเพียงว่า “โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือทำร้ายผู้บังคับบัญชาอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบ ด้วยกฎหมายเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่” เท่านั้น พิเคราะห์แล้วในวันนัดพิจารณาศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อที่ ๑ ว่า “โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือทำร้ายผู้บังคับบัญชาอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบ ด้วยกฎหมายเป็นกรณีร้างแรงหรือไม่” เห็นว่าเฉพาะที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และโจทก์ทำร้ายนายประณตผู้บังคับบัญชา ของโจทก์เนื่องจากถูกนายประณต ตำหนิเกี่ยวกับเรื่องการทำงานในเวลาทำงานและในบริเวณที่ทำงาน เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่กำหนดไว้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่าการกระทำของโจทก์ตามที่จำเลยให้การและนำสืบนั้นยังไม่ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงเพราะผู้บังคับบัญชาได้มัดมือของโจทก์ที่ทำการชกนั้นไม่ได้ การทำร้ายของโจทก์ยังไม่ถูกตัวผู้บังคับบัญชาการกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงยังไม่ถือว่ากรณีร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ น่าเชื่อว่าโจทก์มีเจตนาทำร้ายร่างกายนายประณตผู้บังคับบัญชาของโจทก์ แต่ศาลแรงงานกลางก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องนี้มีว่าอย่างไร คู่ความได้อ้างส่งต่อศาลหรือไม่ก็ปรากฏนอกจากนี้การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ที่โจทก์ทำร้ายร่างกายนายประณตดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างตามประกาศกระทรวง มหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๑) ซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อที่ ๑ เพียงว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือทำร้ายผู้บังคับบัญชาอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ หาได้กำหนดประเด็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างไม่ จึงเป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการพิจารณาพิพากษามี เหตุผลสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในปัญหาดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี