คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937-4938/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างผู้เสียหายทำงานในตำแหน่งพนักงานอาวุโส ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ประจำลานจอดเครื่องบินและปล่อยเครื่องบิน ไม่มีหน้าที่ขายบัตรโดยสารเครื่องบิน ผู้เสียหายมิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ได้จากลูกค้าแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับพนักงานขายบัตรโดยสารเครื่องบินที่ผู้เสียหายมอบหมายหน้าที่ให้รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินแทนลูกค้าด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ลูกค้าซื้อการให้บริการหรือชำระค่ารับจ้างในกิจการของผู้เสียหาย เงินค่าโดยสารเครื่องบินนั้น จึงเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องนำไปส่งมอบหรือชำระตามวิธีการให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 เอาเงินค่าโดยสารเครื่องบินดังกล่าวไว้เป็นของจำเลยที่ 2 เสียเอง จึงเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง มิใช่ความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 335 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้เงิน 21,250 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนที่สองต่อจากโทษจำเลยทั้งสองสำนวนแรก
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก 335 (11) วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 335, (11) วรรคแรก) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างและฐานใช้เอกสารปลอมเป็นการกระทำโดยมุ่งหวังที่จะลักเอาทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างไปเท่านั้น จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างสองกระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี ให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน 9,550 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาและคำขออื่นให้ยกและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องคืนเงิน 9,550 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในส่วนที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกาคัดค้านว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างบริษัทโอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด ผู้เสียหาย ประจำที่สถานีสนามบินหาดใหญ่ โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโส เมื่อวันที่ 10พฤษภาคม 2549 นางยุพเยาว์ มอบเงิน 3,700 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ไปซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากผู้เสียหายแทนนางยุพเยาว์และนางสาวเยี่ยมพร บุตรของนางยุพเยาว์เพื่อเดินทางไปกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 ใช้รหัสประจำตัวของจำเลยที่ 1 เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย ขายบัตรโดยสารเครื่องบินให้แก่นางยุพเยาว์และนางสาวเยี่ยมพร แต่ไม่ชำระเงินให้แก่ผู้เสียหายตามสรุปรายงานการขายภายในประเทศและรายงานการขายประจำวัน ต่อมา นางยุพเยาวย์และนางสาวเยี่ยมพรใช้บัตรโดยสารเครื่องบินที่จำเลยที่ 2 นำไปมอบให้เดินทาง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 ตามรายชื่อผู้โดยสาร และเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 เวลาเช้า นางสาวนิธิภรณ์ นางสาวสุวดีย์ และนางสาวจณิตา มอบเงินรวม 5,850 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไปซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากผู้เสียหายแทนนางสาวนิธิภรณ์ นางสาวสุวดี และนางสาวจณิตาเพื่อใช้เดินทางไปกรุงเทพมหานคร ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 2 ใช้รหัสประจำตัวของ จำเลยที่ 1 เข้าสู่ระบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายขายบัตรโดยสารเครื่องบินรวม 3 ฉบับ ได้แก่ 5789920004001 ถึง 5789920004003 ซึ่งเป็นบัตรโดยสารเครื่องบินที่ตัวแทนของผู้เสียหายได้จำหน่ายไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 และผู้โดยสารใช้บัตรโดยสารเครื่องบินเหล่านั้นเดินทางเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ตามสรุปรายงานการขายภายในประเทศไปมอบให้แก่นางสาวนิธิภรณ์ นางสาวสุวดีย์ และนางสาวจณิตาได้ใช้บัตรโดยสารเครื่องบินดังกล่าวเดินทาง โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระเงินค่าบัตรโดยสารเครื่องบินทั้งสามฉบับให้แก่ผู้เสียหาย ตามสรุปรายงานการขายภายในประเทศ และรายงานการขายประจำวัน คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาเป็นความผิดฐานยักยอกมิใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 แม้ไม่มีหน้าที่โดยตรงแต่ก็สามารถขายบัตรโดยสารเครื่องบินของผู้เสียหายได้ จำเลยที่ 2 ขายบัตรโดยสารเครื่องบินของผู้เสียหายได้เงินจากลูกค้า แต่ไม่นำเงินไปชำระแก่ผู้เสียหาย จึงเป็นการเบียดบังเงินของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 2 ครอบครองเงินค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของผู้เสียหายและเบียดบังเงินของผู้เสียหายไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานยักยอกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของผู้เสียหายทำงานในตำแหน่งพนักงานอาวุโส ซึ่งได้ความว่า ในขณะเกิดเหตุเดือนพฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ประจำลานจอดเครื่องบินและปล่อยเครื่องบิน ไม่มีหน้าที่ขายบัตรโดยสารเครื่องบิน ผู้เสียหายมิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ได้จากลูกค้าแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกันกับพนักงานขายบัตรโดยสารเครื่องบินที่ผู้เสียหายมอบหมายหน้าที่ให้รับและครอบครองเงินค่าโดยสารเครื่องบินจากลูกค้าแทนด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าโดยสารเครื่องบินที่ลูกค้าซื้อการให้บริการหรือชำระค่ารับจ้างในกิจการของผู้เสียหาย เงินค่าโดยสารเครื่องบินนั้นจึงเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องนำไปส่งมอบหรือชำระตามวิธีการให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 เอาเงินค่าโดยสารเครื่องบินดังกล่าวตามฟ้องไว้เป็นของจำเลยที่ 2 เสียเอง จึงเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง มิใช่เป็นความผิดฐานยักยอก ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสที่ล่วงรู้รหัสประจำตัวผู้ร่วมงาน แล้วเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายในการกระทำความผิด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร่วมงานและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย พฤติการณ์แห่งความผิดนับว่าร้ายแรง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่การงานและจบการศึกษาระดับสูงอยู่ในวิสัยที่จะใช้สติปัญญาพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจที่จะกระทำความผิดได้ คดีไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 ได้ แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้บรรเทาผลร้ายให้ผู้เสียหายเป็นเงิน 11,100 บาท แล้ว และผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานเบา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share