คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8256/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีแต่ไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งไม่รับ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์การที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มายื่นฟ้องจำเลยคดีนี้ต่อศาลแพ่งในระหว่างที่คดีก่อนค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173วรรคสอง
จำเลยเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ พ. ตกลงกับ ล.โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และ พ.เพื่อแบ่งที่พิพาทส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ พ.ออกไปเพื่อจะนำไปแบ่งให้แก่ทายาท พ.ต่อไป จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ.จึงมีสิทธิทำสัญญาดังกล่าวได้ เมื่อคู่กรณีมีเจตนาทำสัญญาขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกันอันอาจมีขึ้นในภายหน้าให้เสร็จไป จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ.มาตรา 850จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง
โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 168เดิม
แม้ พ.จะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็เป็นเรื่องที่ พ.จะต้องเรียกร้องจากจำเลยเอง โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องแทน พ.และเมื่อฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นฟ้องซ้อน จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยแบ่งทรัพย์ให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้
การที่ศาลยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จึงสมควรไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148 (3)

Share