คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันพยายามฆ่าจำเลยที่ 3 ที่ 5และที่ 7 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80 ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าจำเลยที่ 7 จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ เพราะมิได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์หรือโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 7 ข้อนี้มาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายชำนาญ กรรเทพฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 อีกฝ่ายหนึ่ง ได้เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้กัน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายบาดเจ็บ จำเลยที่ 5 และที่ 7 ได้รับอันตรายสาหัส และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันใช้ปืนยิงจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 7โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ และแพทย์ได้ทำการรักษาทันท่วงทีจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 จึงไม่ถึงแก่ความตายเหตุเกิดที่ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 295, 288, 299 ริบของกลาง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80, มาตรา 299 วรรคแรก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียว ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1และที่ 2 คนละ 12 ปี ริบหัวกระสุนของกลาง คำขออื่นให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 ประกอบด้วยมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ริบอาวุธปืนของกลางนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 7 ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 7 มีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 7 มิได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์หรือโจทก์ร่วม จึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ที่จำเลยที่ 7 ยื่นฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 7 ในข้อนี้มาด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share