คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาตามยอมของศาลที่ถึงสุดแล้ว จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี และเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ประกอบมาตรา 193/12 เมื่อลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่งวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอมได้นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2537 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 จึงพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ จึงขาดอายุความแล้ว
การที่ลูกหนี้ที่ 1 เคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายขอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาลดยอดหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ที่ 1 สามารถไถ่ถอนทรัพย์จำนอง เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยมีการยึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว มิใช่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ทั้งมิใช่เป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และ (5) ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันในทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองไว้ในคดีแพ่ง และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) แล้ว แม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความเจ้าหนี้ก็ยังคงมีทรัพย์สิทธิบังคับชำระหนี้จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในวงเงินจำนอง แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพญ์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2547
วันที่ 22 ธันวาคม 2547 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 1,315,265.88 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองตามมาตรา 96 (3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุดมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ซึ่งคดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2537 และกำหนดชำระหนี้งวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 เมื่อนับถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 22 ธันวาคม 2547 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี ล่วงเลยระยะเวลาที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีทรัพย์จำนองเป็นประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้ว่าสิทธิเรียกร้องในส่วนหนี้ประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยค้างชำระย้อนหลังเกิน 5 ปี ไม่ได้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5170 และ 5171 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่ 1 ภายในวงเงินจำนอง 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระ 5 ปี นับแต่วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย้อนขึ้นไป (ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2542 ถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด วันที่ 16 กันยายน 2547) เป็นเงิน 367,500 บาท จึงเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของเจ้าหนี้ตามมาตรา 107 (1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แต่ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขาดทอดตลาดทรัพย์หลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 5170 และ 5171 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่ 1 ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขแดงที่ 1172/2537 ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นไม่เกินวงเงิน 717,500 บาท
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาตามยอม คดีหมายเลขแดงที่ 1172/2537 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2537 ว่า ลูกหนี้ทั้งสองตกลงชำระหนี้จำนวน 542,509.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยชำระให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 โดยชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดไม่ว่างวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยินยอมให้เจ้าหนี้บังคับคดีได้ทันทีโดยยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 5170 และ 5171 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ออกขายทอดตลาด ถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอย่างอื่นของลูกหนี้ทั้งสองออกขายทอดตลาดจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน หลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้วลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก วันที่ 28 ตุลาคม 2537 เจ้าหนี้ดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5170 และ 5171 ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่ 1 ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาด ต่อมาศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้หรือไม่เพียงใด ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำขอรับชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาตามยอมของศาลที่ถึงที่สุดแล้ว จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ประกอบมาตรา 193/12 เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่งวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอมได้นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2537 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 จึงพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้ทั้งสองจึงขาดอายุความแล้ว ที่เจ้าหนี้อ้างในอุทธรณ์ทำนองว่า ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวลูกหนี้ที่ 1 เคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายขอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาลดยอดหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ที่ 1 สามารถไถ่ถอนทรัพย์จำนองเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้แล้ว และเจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยมีการยึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว ทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาสะดุดหยุดลง จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การยื่นคำร้องของลูกหนี้ที่ 1 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว และการที่เจ้าหนี้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นั้น ก็มิใช่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ทั้งมิใช่เป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และ (5) ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ดังนั้น มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงขาดอายุความและถือเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ส่วนที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีนั้น เห็นว่า เจ้าหนี้ดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้มีประกันในทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองไว้แล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1172/2537 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) แม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วเจ้าหนี้ก็ยังคงมีทรัพยสิทธิบังคับชำระหนี้จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในวงเงินจำนอง 350,000 บาท แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในส่วนสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share