คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้นๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องซึ่งร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าบ้านที่ผู้ร้องปลูกอยู่ในที่ดินของผู้อื่นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาล หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับบ้านหลังดังกล่าว ผู้ร้องก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้อย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ส่วน ป.ที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติถึงวิธีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1382 มิใช่กฎหมายใกล้เคียงที่นำมาใช้แก่กรณีของผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2522 นางพเยาว์ เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2208 อนุญาตให้ผู้ร้องปลูกสร้างอาคารบนที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัย ผู้ร้องได้ปลูกสร้างอาคาร และทางราชการออกหมายเลขทะเบียนบ้านให้คือบ้านเลขที่ 26/3 ซอยศิลปเดช แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2536 นางพเยาว์แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2208 ดังกล่าวออกเป็น 8 แปลง ซึ่งเมื่อแบ่งแยกแล้วบ้านของผู้ร้องตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 112889 ที่ดินที่มีบ้านผู้ร้องตั้งอยู่นี้นางพเยาว์ยกให้แก่นางสาวเกสรา และต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2545 นางสาวพิรีรัชต์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวเกสราผู้ตายขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางสาวอภิรัชฎ ครั้นวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ผู้ร้องไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน เพื่อขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 26/3 ซอยศิลปะเดช แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้โดยแจ้งว่าต้องมีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าวก่อน เนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิปลูกบ้านเลขที่ 26/3 ซอยศิลปะเดช ในที่ดินโฉนดเลขที่ 112889 โดยชอบด้วยกฎหมาย บ้านจึงไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 แต่สิทธิของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์จนกว่าผู้ร้องจะได้จดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าบ้านดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ผู้ร้องสามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าบ้านตามคำร้องเป็นของผู้ร้อง จึงไม่อาจใช้สิทธิทางศาลโดยการยื่นคำร้องได้ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า กรณีบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) นั้น จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้นๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องซึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าบ้านที่ผู้ร้องปลูกอยู่ในที่ดินของผู้อื่นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่เกี่ยวกับบ้านหลังดังกล่าวประการใด ผู้ร้องก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 สำหรับประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติถึงวิธีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 มิใช่กฎหมายใกล้เคียงที่นำมาใช้แก่กรณีของผู้ร้องตามที่กล่าวอ้าง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share