คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของชายหญิงคู่สมรสเอง บิดามารดาของหญิงมีแต่จะให้ความยินยอมในกรณีจำเป็น ฉะนั้นเมื่อไม่ปรากฎว่าบิดามารดาของหญิงได้ขัดขวางไม่ให้บุตรสาวไปจดทะเบียนกับชาย หรือไม่ให้ความยินยอมอนุญาตแต่ประการใดแล้ว ชายจะฟ้องขอให้บิดามารดาหญิง ใช้ค่าเสียหายแก่ตนในการที่ตนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิง ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางสาวเป๊ะบุตรสาวจำเลยรักใครกัน นางสาวเป๊ะสมัครใจมาอยู่กินกับโจทก์ต่อมาโจทก์ได้จัดให้ผู้ใหญ่ไปรับรองต่อจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นบิดามารดา จำเลยยอมให้อภัย และตกลงเรียกเอาเงินสินสอดหมั้น ๑๖๐๐ บาท ผ้าไหว้ ๓ สำรับ ฯลฯ จนบัดนี้จำเลยหาได้จัดการนำตัวนางสาวเป๊ะไปจดทะเบียนสมรสและให้ความยินยอม ณ ที่ว่าการอำเภอไม่ จึงขอให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหาย ฐานผิดสัญญาหมั้น ๒๕๐๐ บาบท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๑๖๐๐ บบาท คืนแก่โจทก์
แต่ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เงิน ๑๖๐๐ บาทนี้เป็นเงินที่จำเลยเรียกเมื่อให้อภัยแก่โจทก์และประกอบการพิธีตามประเพณีอีกครั้งหนึ่ง เป็นการแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่าได้ทำการเป็นหลักฐาน ซึ่งโจทก์เองก็พอใจ จะมีธรรมเนียมหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้เรียก จะเรียกกันอย่างไรก็แล้วแต่จะตกลงกัน เงินนี้จึงไม่ใช่เงินหมั้นนอกจากนี้การหมั้นก็เป็นเรื่องของชายหญิง บิดามารดาเป็นแต่ผู้กระทำการแทนหรือให้ความยินยอมในกรณีจำเป็นตามกฎหมายเท่านั้น และการจดทะเบียนสมรสหรือไม่ เป็นเรื่องของชายหญิงนั่นเอง บิดามารดามีแต่จะให้ความยินยอมในกรณีจำเป็น คดีไม่ได้ความว่าจำเลยได้ขัดขวางไม่ให้บุตรสาวไปจดทะเบียนกับโจทก์ หรือไม่ให้ความยินยอมอนุญาตแต่ประการใด แต่กลับได้ความว่า โจทก์เองไม่เคยนำพาในการไปจดทะเบียน จนกระทั้งเกิดทะเลาะกับบุตรสาวของจำเลย จึงหาเรื่องขึ้น ฉะนั้นจึงพิพากษายืน

Share