คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4933/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่4และที่5ให้การแต่เพียงว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์และโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินขึ้นเองโดยไม่สุจริตเท่านั้นจำเลยที่4และที่5หาได้ให้การว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ช. เป็นตัวแทนของโจทก์เพื่อทำสัญญาเช่าที่พิพาทและกรณีไม่อาจแปลความได้ว่าจำเลยที่4และที5ได้ให้การต่อสู้คดีในปัญหาข้อนี้ไว้แล้วถือได้ว่าปัญหาดังกล่าวจำเลยที่4และที5ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิได้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา249แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทซึ่งให้จำเลยเช่าต่อมาไม่ประสงค์ให้จำเลยที่4และที่5และที่6อยู่ในที่ดินดังกล่าวขอให้บังคับจำเลยออกจากที่พิพาทจำเลยให้การว่าจำเลยที่4ที่5และที่6ครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์แล้วการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษาว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์จึงตรงตามประเด็นที่ว่าจำเลยแต่ละคนได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382หรือไม่แล้วหาขัดต่อมาตรา142แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนโจทก์ฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5093 เนื้อที่ 167 ไร่เศษโฉนดเลขที่ 481 เนื้อที่ 12 ไร่เศษ และโฉนดเลขที่ 5312 เนื้อที่11 ไร่เศษ จำเลยที่ 4 เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5093 เนื้อที่ประมาณ15 ไร่ ปลูกบ้านและเลี้ยงกุ้ง จำเลยที่ 5 เช่าที่ดินโฉนดเลขที่5093 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ เลี้ยงกุ้ง จำเลยที่ 6 เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5093 เนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวา ปลูกบ้าน ต่อมาปี2529 จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ชำระค่าเช่า แต่ก็อาศัยอยู่ในที่ดินจนถึงปัจจุบัน เมื่อต้นปี 2530 โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 อยู่ในที่ดินดังกล่าว จึงบอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินแต่จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 4ที่ 5 และที่ 6 กับบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินดังกล่าวและส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระค่าเสียหายรายละ 30,000 บาท ต่อเดือนจำเลยที่ 6 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 กับบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การมีใจความทำนองเดียวกันว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง จำเลยที่ 4 ที่ 5และที่ 6 เข้าครอบครองทำกินในที่พิพาทโดยไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินขึ้นเองโดยสุจริต ที่พิพาทเดิมนายสุข มั่นถิ่น บิดาของจำเลยที่ 4 เป็นผู้เข้าบุกเบิกตั้งแต่เป็นป่าแสมและเข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยและทำประโยชน์ เมื่อนายสุขตาย จำเลยที่ 4 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อตลอดมาเป็นเวลา 70 ปีเศษ เมื่อประมาณ 30 ปี จำเลยที่ 4 แบ่งที่ดินดังกล่าวยกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นบุตรและบุตรเลี้ยงเข้าครอบครองทำประโยชน์สืบต่อจากจำเลยที่ 4 เพราะจำเลยที่ 4 ชราภาพโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดแบ่งที่ดิน โจทก์ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายตุ๊ก วิริยะพันธุ์ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 พร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5093 ให้จำเลยที่ 4ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 5,500 บาท ให้จำเลยที่ 5 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 5,000 บาท และให้จำเลยที่ 6 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 400 บาท ทั้งนี้ค่าเสียหายดังกล่าวให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ชำระนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยแต่ละรายจะได้ออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อแรกว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบและแสดงให้เห็นว่า มีหลักฐานเป็นหนังสือมอบอำนาจให้นายชื้นเป็นตัวแทนของโจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาท ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 และมาตรา 798 ทำสัญญาเช่าเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 115 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4และที่ 5 ให้การเกี่ยวกับปัญหานี้แต่เพียงว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ และโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินขึ้นเองโดยไม่สุจริตเท่านั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 หาได้ให้การไว้ว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมอบอำนาจให้นายชื้นเป็นตัวแทนของโจทก์เพื่อทำสัญญาเช่าที่พิพาท และกรณีไม่อาจแปลความได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ให้การต่อสู้คดีในปัญหาข้อนี้ไว้แล้ว ถือได้ว่าปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิได้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อต่อมาว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้อ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทนครอบครองที่พิพาทส่วนใดแทนโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษาว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ จึงเป็นการพิพากษาที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทซึ่งให้จำเลยเช่า ต่อมาไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 อยู่ในที่ดินดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยออกจากที่พิพาท จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5และที่ 6 ครอบครองที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์แล้วที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษาว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ จึงตรงตามประเด็นที่ว่า จำเลยแต่ละคนได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 หรือไม่แล้ว หาขัดต่อมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่
พิพากษายืน

Share