คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4930/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 240 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา” คำว่า “ทำปลอมขึ้น” หมายความถึงทำโดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงต้องทำในประการที่จะให้มีลักษณะอย่างเดียวกับเงินตราที่รัฐบาลกำหนด เช่น มีลวดลาย สี ขนาด ลักษณะของกระดาษอย่างเดียวกัน ซึ่งจะต้องพอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตรา แต่ไม่จำต้องถึงกับต้องพิจารณาจึงจะรู้ว่าปลอม เพียงแต่ลวงตาซึ่งถ้าไม่พิจารณาให้ดีอาจหลงเข้าใจว่าเป็นเงินตราได้ ก็ถือว่าเป็นการทำปลอมขึ้นแล้ว และการทำปลอมย่อมจะเหมือนของจริงไปทุกอย่างไม่มีผิดกันเลยไม่ได้ ย่อมต้องมีบางสิ่งบางอย่างผิดจากของจริงบ้างไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การปลอมจะผิดจากของจริงที่ตั้งใจทำให้เหมือนมากน้อยเพียงใดจึงไม่สำคัญ
การที่จำเลยนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นเงินตราที่รัฐบาลไทยออกใช้จำนวน 46 ฉบับ มาตัดออกเป็น 2 ท่อนทุกฉบับ ท่อนหนึ่งยาวเกินครึ่งฉบับ อีกท่อนหนึ่งยาวไม่ถึงครึ่งฉบับ แล้วนำท่อนซ้ายที่สั้นมาต่อสลับท่อนเข้ากับท่อนขวาที่สั้นของอีกฉบับหนึ่งด้วยเทปใส ย่อมเป็นการทำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ขึ้นใหม่อีก 23 ฉบับ โดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงเป็นการทำปลอมขึ้นซึ่งธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลออกไว้ การที่ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรชำรุดตาม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 18 ประเภทต่อท่อนผิด ทำให้ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเงินตรา เพราะหากธนบัตรดังกล่าวเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนบัตรดังกล่าวย่อมไม่เป็นของปลอม การที่ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายแสดงว่าเป็นของปลอม จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตราและมีเงินตราปลอมเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นเงินตราปลอมตาม ป.อ. มาตรา 240 และ 244

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 240, 244 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240, 244 แต่จำเลยเป็นทั้งผู้ปลอมเงินตราและมีเงินตราปลอมเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นเงินตราปลอม จึงให้ลงโทษฐานปลอมเงินตราแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 248 จำคุก 12 ปี และปรับ 40,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี และปรับ 30,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยได้นำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 46 ฉบับ มาตัดออกเป็น 2 ท่อนทุกฉบับ ท่อนหนึ่งยาวเกินครึ่งฉบับ อีกท่อนหนึ่งยาวไม่ถึงครึ่งฉบับ แล้วนำท่อนซ้ายที่สั้นมาต่อสลับท่อนเข้ากับท่อนขวาที่สั้นของอีกฉบับหนึ่งด้วยเทปใส จำเลยได้นำธนบัตรของกลางจำนวน 18 ฉบับ ไปชำระหนี้การใช้บัตรเครดิตจำนวน 18,000 บาท ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาศรีดินแดง ต่อมาพนักงานร้านดังกล่าวนำธนบัตรไปขอแลกที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่แลกไม่ได้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเงินตราและมีเงินตราปลอม เพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นเงินตราปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 และ 244 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ” คำว่า “ทำปลอมขึ้น” หมายความถึงทำโดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงต้องทำในประการที่จะให้มีลักษณะอย่างเดียวกับเงินตราที่รัฐบาลกำหนด เช่น มีลวดลาย สี ขนาด ลักษณะของกระดาษอย่างเดียวกัน ซึ่งจะต้องพอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตรา แต่ไม่จำต้องถึงกับต้องพิจารณาจึงจะรู้ว่าปลอม เพียงแต่ลวงตาซึ่งถ้าไม่พิจารณาให้ดีอาจหลงเข้าใจว่าเป็นเงินตราได้ ก็ถือได้ว่าเป็นการทำปลอมขึ้นแล้ว และการทำปลอมย่อมจะเหมือนของจริงไปทุกอย่างไม่มีผิดกันเลยไม่ได้ ย่อมต้องมีบางสิ่งบางอย่างผิดจากของจริงบ้างไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การปลอมจะผิดจากของจริงที่ตั้งใจทำให้เหมือนมากน้อยเพียงใดจึงไม่สำคัญ การที่จำเลยนำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นเงินตราที่รัฐบาลไทยออกใช้จำนวน 46 ฉบับ มาตัดออกเป็น 2 ท่อน ทุกฉบับ ท่อนหนึ่งยาวเกินครึ่งฉบับ อีกท่อนหนึ่งยาวไม่ถึงครึ่งฉบับ แล้วนำท่อนซ้ายที่สั้นมาต่อสลับท่อนเข้ากับท่อนขวาที่สั้นของอีกฉบับหนึ่งด้วยเทปใสตามธนบัตรของกลาง ย่อมเป็นการทำธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ขึ้นใหม่อีก 23 ฉบับ โดยตั้งใจให้เหมือนของจริง จึงเป็นการทำปลอมขึ้นซึ่งธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลออกไว้ แม้จะมีขนาดสั้นกว่าปกติก็ยังคงถือเป็นการทำปลอม เพราะพอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตราและของปลอมไม่จำต้องเหมือนของจริงไปทุกอย่างโดยไม่ผิดกันเลย การที่จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่า จำเลยรู้ว่าธนบัตรท่อนยาวเกินครึ่งฉบับแลกได้เต็มราคาตามกฎกระทรวง แสดงว่าจำเลยมีเจตนาทำให้ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 2 ฉบับ เป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 3 ฉบับ ท่อนยาว 2 ท่อน แลกคืนได้ 2,000 บาท ส่วนท่อนสั้น 2 ท่อน ต่อกันเป็นฉบับเดียว 1,000 บาท แม้จะแลกคืนไม่ได้ แต่การที่จำเลยนำไปใช้ชำระหนี้การใช้บัตรเครดิตย่อมแสดงว่า จำเลยประสงค์จะแสวงหาประโยชน์จากการทำปลอมดังกล่าว หากการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเงินตราเท่ากับเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการทำธนบัตรโดยผู้ไม่มีอำนาจ อันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ การที่ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรชำรุดตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 18 ประเภทต่อท่อนผิด ทำให้ไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเงินตรา เพราะหากธนบัตรดังกล่าวเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ธนบัตรดังกล่าวย่อมไม่เป็นของปลอม การที่ใช้ชำระหนี้ไม่ได้ตามกฎหมายแสดงว่าเป็นของปลอม จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตราและมีเงินตราปลอมเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นเงินตราปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 และ 244 ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 และ 244 จำเลยเป็นทั้งผู้ปลอมเงินตราและมีเงินตราปลอมเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นเงินตราปลอม จึงให้ลงโทษฐานปลอมเงินตราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 แต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 248 จำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและจำเลยได้นำเงินไปแลกธนบัตรปลอมคืน อันเป็นการรู้สึกความผิดและบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี ริบของกลาง

Share