คำวินิจฉัยที่ 109/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนผู้เช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการตลาดยื่นฟ้องการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ในสังกัดอ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่ของการเคหะแห่งชาติกลั่นแกล้งติดประกาศบริเวณพื้นที่ให้เช่าว่า จะก่อสร้างปรับปรุงตลาด เป็นเหตุให้พ่อค้าแม่ค้าหลายรายบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงกับผู้ฟ้องคดี ขอให้รื้อถอนป้ายประกาศ และชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า ตามคำฟ้องเป็นการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำละเมิดด้วยการติดประกาศบริเวณพื้นที่ให้เช่าว่า จะก่อสร้างปรับปรุง เป็นเหตุให้พ่อค้าแม่ค้าหลายรายบอกเลิกสัญญาเช่ากับผู้ฟ้องคดีนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เท่านั้น เหตุละเมิดหาใช่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๙/๒๕๕๗

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดมีนบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ นายปรีชา อาบีดิน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องหัวหน้าสำนักงานเคหะชุมชนร่มเกล้า ๒ ที่ ๑ การเคหะแห่งชาติ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๕๐/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการตลาดโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง ๒ เฟส ๑ (T) กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีกำหนดเวลาเช่า ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ถึง ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ โดยมีพื้นที่เช่าประมาณ ๗๘๐ ตารางเมตร ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ติดประกาศบริเวณพื้นที่ให้เช่าโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ฟ้องคดีว่า สำนักงานเคหะชุมชนร่มเกล้า ๒ จะก่อสร้างหลังคาเมทัลชีทและห้องน้ำเพื่อยกระดับมาตรฐานตลาดให้ถูกหลักอนามัยเพื่อประโยชน์ของผู้ค้าและผู้บริโภค โดยจะก่อสร้างในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ๒๕๕๖ ทำให้ไม่สามารถค้าขายในพื้นที่ได้ จึงขอความร่วมมือผู้ค้าและผู้บริโภคได้เตรียมความพร้อมเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างในการก่อสร้างต่อไป เป็นการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี เพื่อเปิดประมูลใหม่ เป็นเหตุให้พ่อค้าแม่ค้าบอกเลิกสัญญาเช่ากับผู้ฟ้องคดีหลายราย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการบริหารลานตลาด อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รื้อถอนป้ายประกาศออกไป และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง การที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จัดให้มีตลาดสำหรับผู้อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง ๒ เฟส ๑ (T) จึงเป็นการจัดให้มีบริการอื่นที่จำเป็นแก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการดังกล่าวเพื่อให้สภาพการอยู่อาศัยดีขึ้น อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามมาตรา ๖ ประกอบกับมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๗ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตกลงทำสัญญากับผู้ฟ้องคดีตามสัญญาเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการตลาดโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง ๒ เฟส ๑ (T) โดยข้อ ๑ กำหนดว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้เช่าและผู้เช่าตกลงเช่าพื้นที่ตามแผนผังแนบท้ายสัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการตลาด ข้อ ๙ กำหนดว่า ผู้เช่าตกลงที่จะเรียกเก็บค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าขยะจากผู้ประกอบการค้ารายย่อยได้ในอัตราที่ผู้ให้เช่ากำหนด ข้อ ๑๐ กำหนดว่า ผู้เช่าต้องจัดหาและติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและมาตรวัดน้ำในนามของผู้ให้เช่าด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเอง และผู้เช่าตกลงให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันทีที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ข้อ ๑๑ กำหนดว่า ผู้เช่าต้องรักษาความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทรัพย์สินที่เช่า ข้อ ๑๓ กำหนดว่า ผู้เช่าต้องจัดหาถังดักไขมันตามแบบที่ผู้ให้เช่ากำหนด ข้อ ๑๖ กำหนดให้ผู้เช่าใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อดำเนินกิจการตลาดเท่านั้น ข้อ ๒๓ กำหนดว่า ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งของผู้ให้เช่าที่ได้แจ้งให้ผู้เช่าทราบแล้ว ผู้เช่าต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดทุกประการไม่ว่า ก่อนหรือวันทำสัญญา และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา และข้อ ๒๔ กำหนดว่า ในระหว่างอายุสัญญานี้ หากทางราชการจำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อประโยชน์ของทางราชการ เมื่อผู้ให้เช่าได้บอกกล่าวไปยังผู้เช่าแล้ว ผู้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืน โดยผู้เช่าไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าทดแทนใด ๆ สัญญาดังกล่าว จึงมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นการให้ผู้ฟ้องคดีบริหารลานตลาดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อันเป็นบริการอื่นที่จำเป็นแก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง ๒ เฟส ๑ (T) ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ บรรลุผล สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีลักษณะเป็นสัญญาที่วัตถุแห่งสัญญาเป็นการมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะในการจัดให้มีตลาด ซึ่งเป็นบริการอื่นที่จำเป็นแก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการดังกล่าวเพื่อให้สภาพการอยู่อาศัยดีขึ้น จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทรงสิทธิเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการตลาดในโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง ๒ เฟส ๑ กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องคดียังเป็นผู้ทรงสิทธิบริหารลานตลาดอยู่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ให้บุคคลอื่นเข้ามาติดป้ายประกาศในบริเวณลานตลาดของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนเสียหายจากการขาดประโยชน์บริหารลานตลาด ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีถอดป้ายดังกล่าวออกและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิด ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทรงสิทธิเช่าพื้นที่ในโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เข้ามาติดป้ายประกาศในบริเวณตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้มีการสร้างหลังคาเพื่อเปิดประมูลใหม่ คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี เป็นการจงใจหรือกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเพียงใด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับมูลเหตุละเมิดหาใช่พิพาทอันเกิดจากข้อตกลงในสัญญาเช่า คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีวัตถุประสงค์จัดให้มีเคหะเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย รวมตลอดถึงจัดให้มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย โดยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการตลาดโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง ๒ เฟส ๑ (T) กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งมีกำหนดเวลาเช่า ๑ ปี ก่อนสัญญาเช่าครบกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี เพื่อเปิดประมูลใหม่ โดยติดประกาศบริเวณพื้นที่ให้เช่าว่า สำนักงานเคหะชุมชนร่มเกล้า ๒ จะก่อสร้างหลังคาเมทัลชีทและห้องน้ำเพื่อยกระดับมาตรฐานตลาดให้ถูกหลักอนามัยเพื่อประโยชน์ของผู้ค้าและผู้บริโภค ทำให้ไม่สามารถค้าขายในพื้นที่ได้ ขอให้ผู้ค้าและผู้บริโภคได้เตรียมความพร้อมเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างต่อไป เป็นเหตุให้พ่อค้าแม่ค้าหลายรายบอกเลิกสัญญาเช่า อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รื้อถอนป้ายประกาศ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร แต่ตามคำฟ้องเป็นการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำละเมิดด้วยการติดประกาศบริเวณพื้นที่ให้เช่าว่า จะก่อสร้างปรับปรุง เป็นเหตุให้พ่อค้าแม่ค้าหลายรายบอกเลิกสัญญาเช่ากับผู้ฟ้องคดีนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เท่านั้น เหตุละเมิดหาใช่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายปรีชา อาบีดิน ผู้ฟ้องคดี หัวหน้าสำนักงานเคหะชุมชนร่มเกล้า ๒ ที่ ๑ การเคหะแห่งชาติ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share