แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่โจทก์นำสืบ 2 ฉบับ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (1) และข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ได้ออกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศข้อ 4.4 (4) ว่า การให้บริการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนนั้น และ (5) ว่า ภายใต้ (4) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระหรือดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้ แต่ดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมและค่าบริการนั้น เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวมีความหมายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมใด ๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ แต่ข้อเท็จจริงตามสัญญาการใช้บัตรเครดิต ใบบันทึกยอดหนี้ และคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า โจทก์อนุมัติวงเงินตามสัญญาบัตรเครดิต 55,000 บาท นั้น คิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตั้งแต่ 25,000 บาท ขึ้นไป คิดอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยในยอดเงินที่ค้างชำระอัตราร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินเข้าด้วยกันแล้วเกินกว่าอัตราร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ทั้งสองฉบับดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะ ก็เท่ากับสัญญาบัตรเครดิตมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด เมื่อปรากฏตามใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตและใบบันทึกรายการยอดหนี้ว่า จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 183,455 บาท สูงกว่าจำนวนเงินต้นที่จำเลยใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโจทก์เพียง 130,953.74 บาท จึงถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 156,565.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 130,953.47 บาท นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 156,565.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 130,953.47 บาท นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตโจทก์ จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายวันที่ 1 ตุลาคม 2549 และชำระเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 มียอดหนี้ค้างชำระ 130,953.47 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 อันมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสัญญาบัตรเครดิตที่พิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ธุรกิจออกบัตรเครดิตให้แก่ผู้บริโภคจะต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจดังกล่าว โดยต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจตั้งแต่วันที่มีการประกาศใช้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 109ง วันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งในบทเฉพาะกาล ข้อ 14 ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบกิจการนั้นต่อไป ให้ยื่นขอรับอนุญาตภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ และข้อ 16 ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ปรากฏตามเอกสารซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ได้ประกอบธุรกิจดังกล่าวอยู่แล้วก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับยังคงประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไปได้ เพียงแต่จะต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจดังกล่าวภายในหกสิบวัน นับแต่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับคือวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 หากไม่ขออนุญาตภายในเวลาที่กำหนดก็ไม่อาจประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไปได้ แต่หากได้ยื่นขออนุญาตไว้แล้ว ก็สามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งว่าไม่อนุญาต ซึ่งสอดคล้องกับประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 22 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการออกประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อรัฐมนตรีได้ประกาศให้กิจการตามข้อ 5 เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตเพิ่มขึ้นจากที่ได้ประกาศไว้แล้ว ผู้ซึ่งประกอบกิจการอยู่ในวันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าประสงค์จะประกอบกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขอรับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ภายในหกสิบวัน นับแต่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เมื่อได้ยื่นคำขอรับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้แล้ว ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าผู้อนุญาตได้แจ้งให้ทราบถึงการไม่อนุญาต เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามหนังสือกระทรวงการคลังว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2546 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ยื่นคำขออนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว และต้องถือว่าโจทก์ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เพิ่งสามารถประกอบธุรกิจบัตรเครดิตได้ตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต ดังนั้นจำเลยจะทำสัญญาสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตกับโจทก์เมื่อใดจึงไม่ใช่สาระสำคัญ สัญญาการใช้บัตรเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลสมบูรณ์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตามสัญญาบัตรเครดิตเป็นโมฆะหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์คิดดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และค่าบริการ รวมกันแล้วเกินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เกินกว่าที่ประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ จึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่โจทก์นำสืบนั้นมี 2 ฉบับ ทั้ง 2 ฉบับ ต่างระบุเหตุผลในการออกประกาศว่า เพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาประโยชน์ประชาชน และเป็นการป้องกันปัญหาจากบัตรเครดิตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนเพื่อให้หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมีความเหมาะสม ชัดเจนและสามารถถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (1) และข้อ 8 แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 และ 11 พฤศจิกายน 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติมธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศฉบับนี้ไว้ในข้อ 4.4 (4) ว่า การให้บริการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนนั้น และ (5) ว่า ภายใต้บังคับตาม (4) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตอาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระหรือดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดจากผู้ถือบัตรหรือผู้บริโภคได้แต่ดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมและค่าบริการนั้น เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปีตามลำดับ ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวมีหมายความว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมใด ๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ตามลำดับ แต่ข้อเท็จจริงตามสัญญาการใช้บัตรเครดิต ใบบันทึกรายการยอดหนี้และคำเบิกความของนายนพกร ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า โจทก์อนุมัติวงเงินตามบัตรเครดิต 55,000 บาท นั้น คิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตั้งแต่ 25,000 บาทขึ้นไป คิดอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยในยอดเงินที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินเข้าด้วยกันแล้ว เกินกว่าอัตราร้อยละ 18 และ 20 ต่อปี ที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ตามเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าวจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ฉะนั้น เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะแล้ว ก็เท่ากับสัญญาบัตรเครดิตมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระเงินต้นทั้งหมด เมื่อปรากฏตามใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตและใบบันทึกรายการยอดหนี้ว่า จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 183,455 บาท สูงกว่าจำนวนเงินต้นที่จำเลยใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโจทก์เพียง 130,953.74 บาท จึงถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ