คำวินิจฉัยที่ 111/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีคณะกรรมการประเมินความเสียหาย มีมติให้ชะลอการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการประเมิน ความเสียหายที่ให้ชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม เพิกถอนหนังสือจังหวัดยะลาที่แจ้งชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมดังกล่าว เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินจังหวัดยะลามีมติอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ฟ้องคดีสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ การอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีถูกคัดค้านการจ่ายเงินเยียวยา ผู้ถูกฟ้องคดีโดยคณะกรรมการประเมินความเสียหายจึงมีมติให้ชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมไปก่อนจนกว่าคดีเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกจะถึงที่สุด มติการให้ชะลอการจ่ายเงินดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองเช่นกัน ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดั่งกล่าว แล้วยื่นฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนมติคณะกรรมการประเมินความเสียหายที่ให้ชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม และให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมแก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๑/๒๕๕๗

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดยะลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๖ นายพรศักดิ์ ลีลาเกรียงศักดิ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๘/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกของนายวีระชัย ลีลาเกรียงศักดิ์ ซึ่งเป็นบิดาและเป็นเจ้าของร้านชัยเจริญ ผู้ฟ้องคดีและครอบครัว เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ได้เกิดเหตุระเบิดหน้าร้านแสงไทยโลหะกิจ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ทำให้เกิดเพลิงไหม้ร้านชัยเจริญซึ่งเป็นร้านซ่อมรถจักรยานของครอบครัวผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจำนวน ๒ คูหา ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากสถานการณ์ความไม่สงบ จำนวน ๑๘,๖๖๒,๒๘๖ บาท ต่อผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยมติคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ จังหวัดยะลา ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพียงจำนวน ๗,๑๖๙,๒๒๐ บาท ซึ่ง น้อยกว่าความเป็นจริง ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ คณะกรรมการประเมินความเสียหายจึงมีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ผู้ฟ้องคดีอีกจำนวน ๒,๕๕๑,๓๔๘ บาท แต่ให้ชะลอการจ่ายไว้ก่อนเนื่องจากนางสาววรารัตน์ ลีลาเกรียงศักดิ์ น้องสาวบิดาผู้ฟ้องคดีคัดค้านการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ฟ้องคดี โดยนำหนังสือการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดยะลาเรื่องการตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกร้านชัยเจริญมาคัดค้าน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ใดจะเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหนังสือจังหวัดยะลา ที่ ยล ๐๐๑๘/๖๗๒๐ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ แจ้งชะลอการจ่ายเงินดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สิน สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดยะลาที่ให้ชะลอการจ่ายเงินจำนวน ๒,๕๕๑,๓๔๘ บาท แก่ผู้ฟ้องคดี เพิกถอนหนังสือจังหวัดยะลา ที่ ยล ๐๐๑๘/๖๗๒๐ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ชะลอการจ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติแล้วจำนวน ๒,๕๕๑,๓๔๘ บาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ฟ้องคดี จำนวน ๑๘๗,๖๗๓ บาท และคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินจังหวัดยะลา มีมติให้ความช่วยเหลือร้านชัยเจริญ จำนวน ๗,๑๖๙,๒๒๐ บาท โดยจ่ายให้ผู้ฟ้องคดีเรียบร้อยแล้ว และได้มีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมตามที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์อีก จำนวน ๒,๕๕๑,๓๔๘ บาท แต่ที่ต้องชะลอการจ่ายเนื่องนางสาววรารัตน์คัดค้านการจ่ายเงินเยียวยาโดยแสดงหลักฐานการอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดยะลาที่ตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่าตนและนายวีระชัย ลีลาเกรียงศักดิ์ ผู้ตายต่างเป็นบุตรของนายกิมผ้อง แซ่หลี และนายกิมผ้องมอบร้านชัยเจริญซึ่งเป็นกิจการในครอบครัว (กงสี) ให้นายวีระชัยและพี่น้องคนอื่น ๆ เป็นผู้ดูแล เมื่อนายกิมผ้องถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินในร้านชัยเจริญย่อมตกทอดแก่ทายาท นางสาววรารัตน์และพี่น้องคนอื่น ๆ จึงมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาด้วย จึงรอฟังผลการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการรับมรดกของนายกิมผ้องในประเด็นที่ว่าร้านชัยเจริญที่นายวีระชัย ผู้ตาย ซึ่งเป็นบิดาของผู้ฟ้องคดีครอบครองอยู่เป็นทรัพย์สินของนายวีระชัยเพียงผู้เดียวหรือเป็นของนายกิมผ้องซึ่งเป็นบิดาของนายวีระชัยและนางสาววรารัตน์รวมทั้งพี่น้องคนอื่น ๆ ด้วย ที่มอบหมายให้นายวีระชัยดูแลแทน อันถือเป็นกิจการในครอบครัว (กงสี) ซึ่งหากร้านดังกล่าวเป็นของนายกิมผ้องย่อมเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาททุกคนโดยประเด็นดังกล่าวนางสาววรารัตน์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดยะลาขอเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้ฟ้องคดีคัดค้าน และศาลจังหวัดยะลา มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดก โดยนางสาววรารัตน์ยื่นอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุดว่าทรัพย์สินทั้งหมดและร้านชัยเจริญเป็นของนายวีระชัยหรือนายกิมผ้อง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การกระทำ อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) ที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๖๐/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติราชการประจำในพื้นที่หรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดกลาง และรายใหญ่ และหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยากรณีพิเศษอื่น ๆ สำหรับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการนั้น กรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวอาคารกำหนดให้หน่วยงานของรัฐควรดำเนินการช่วยเหลือซ่อมแซมสถานประกอบการให้ใช้งานได้ดังเดิม หรือสร้างให้ใหม่แล้วแต่กรณี หากความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวสินค้าหรือทรัพย์สินกำหนดให้ความช่วยเหลือเป็นเงินแก่ผู้ประกอบการตามจำนวนที่เสียหายจริง โดยให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สิน ซึ่งคณะกรรมการประเมินต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน ๒ สัปดาห์ ถ้าหากเกินให้ต่อเวลาได้อีก ๒ สัปดาห์ และระหว่างที่ต่อเวลานั้น ให้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยล่วงหน้าไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของความเสียหายที่ประเมินไว้เบื้องต้น ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ มีลักษณะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป อันมีลักษณะเป็นกฎตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบราชการในจังหวัดจึงมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการก่อสถานการณ์ความไม่สงบและได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากผู้ถูกฟ้องคดีแล้วจำนวน ๗,๑๖๙,๒๒๐ บาท ต่อมา คณะกรรมการประเมินความเสียหายมีมติอนุมัติให้เงินแก่ผู้ฟ้องคดีเพิ่มอีก จำนวน ๒,๕๕๑,๓๔๘ บาท แต่เนื่องจากมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกร้านชัยเจริญในศาลอุทธรณ์ จึงมีมติให้ชะลอการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาในส่วนนี้ไว้ก่อน และผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีขอชะลอการจ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติม จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการจ่ายเงินที่มีการอนุมัติเพิ่มจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดี ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนข้อที่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า คดีนี้เป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการรับมรดกของนายกิมผ้อง โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ร้านชัยเจริญที่นายวีระชัย ผู้ตาย ครอบครองอยู่เป็นทรัพย์สินของนายวีระชัยเพียงผู้เดียวหรือเป็นของนายกิมผ้อง ซึ่งเป็นบิดาของนายวีระชัยและนางสาววรารัตน์ รวมทั้งพี่น้องคนอื่นๆ ด้วย ที่มอบให้นายวีระชัยดูแลแทน อันถือเป็นกิจการในครอบครัว (กงสี) ซึ่งหากร้านดังกล่าวเป็นของนายกิมผ้องย่อมเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาททุกคน และประเด็นดังกล่าวนางสาววรารัตน์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดยะลาขอเป็นผู้จัดการมรดก แต่ผู้ฟ้องคดีคัดค้าน ซึ่งศาลจังหวัดยะลาได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกของนายวีระชัย แต่นางสาววรารัตน์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดียังไม่ถึงที่สุดว่าทรัพย์สินทั้งหมดและร้านชัยเจริญเป็นของนายวีระชัยหรือนายกิมผ้องนั้น ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกที่จะต้องไปว่ากล่าวต่างหากจากข้อพิพาทคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดยะลาพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลพิพาทในคดีนี้เกิดจากศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกของนายวีระชัย แต่นางสาววรารัตน์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดียังไม่ถึงที่สุดว่าทรัพย์สินทั้งหมดและร้านชัยเจริญเป็นของนายวีระชัยหรือนายกิมผ้อง เท่ากับว่ายังไม่เป็นที่ยุติว่านายวีระชัยหรือนายกิมผ้องเป็นผู้ประกอบการในกิจการและทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ หากความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวสินค้าหรือทรัพย์สินกำหนดให้ความช่วยเหลือเป็นเงินแก่ผู้ประกอบการตามจำนวนที่เสียหายจริง เมื่อผู้ประกอบการที่จะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าวยังมีข้อพิพาทกันอยู่ว่าระหว่างนายวีระชัยหรือนายกิมผ้องผู้ใดเป็นผู้ประกอบการในทรัพย์สินและกิจการที่เสียหาย และคดียังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือขอชะลอการจ่ายเงินตามฟ้องไว้ก่อน ก็สืบเนื่องมาจากการพิพาทโต้แย้งกันของทายาทผู้ประกอบการซึ่งรวมถึงผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ด้วยที่ได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนายวีระชัย คดียังอยู่ในระหว่างที่ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาว่า ทรัพย์สินที่เสียหายอันจะได้รับการเยียวยาเป็นของนายวีระชัยหรือนายกิมผ้อง อันจะถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่จะได้รับเงินเยียวยาในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทที่สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิในการรับมรดกของทายาทของผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิได้รับเงินเยียวตามคำสั่งของผู้ถูกกฟ้องคดี ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากสถานการณ์ความไม่สงบต่อผู้ถูกฟ้องคดี จำนวน ๑๘,๖๖๒,๒๘๖ บาท กรณีเกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ แล้วทำให้เกิดเพลิงไหม้ร้านชัยเจริญซึ่งเป็นร้านซ่อมรถจักรยานของครอบครัวผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยมติคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดยะลา ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาเพียงจำนวน ๗,๑๖๙,๒๒๐ บาท ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ คณะกรรมการประเมินความเสียหายจึงมีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกจำนวน ๒,๕๕๑,๓๔๘ บาท แต่ให้ชะลอการจ่ายไว้ก่อนเนื่องจากนางสาววรารัตน์ ลีลาเกรียงศักดิ์ น้องสาวบิดาผู้ฟ้องคดีคัดค้านการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ฟ้องคดี โดยนำหนังสือการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดยะลาเรื่องการตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกร้านชัยเจริญมาคัดค้าน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ใดจะเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดยะลาที่ให้ชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม เพิกถอนหนังสือจังหวัดยะลาที่แจ้งชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดี โดยคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินจังหวัดยะลาได้มีมติให้ความช่วยเหลือและจ่ายให้ผู้ฟ้องคดีบางส่วนแล้ว และได้มีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก แต่ที่ต้องชะลอการจ่ายเนื่องนางสาววรารัตน์คัดค้านการจ่ายเงินเยียวยาโดยแสดงหลักฐานการอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดยะลาที่ตั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่าตนและนายวีระชัย ลีลาเกรียงศักดิ์ ผู้ตาย ต่างเป็นบุตรของนายกิมผ้อง แซ่หลี และนายกิมผ้องมอบร้านชัยเจริญซึ่งเป็นกิจการในครอบครัว (กงสี) ให้นายวีระชัยและพี่น้องคนอื่น ๆ เป็นผู้ดูแล เมื่อนายกิมผ้อง ถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินในร้านชัยเจริญย่อมตกทอดแก่ทายาท นางสาววรารัตน์และพี่น้องคนอื่น ๆ จึงมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาด้วย จึงรอฟังผลการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก่อน เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินจังหวัดยะลามีมติอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ฟ้องคดีสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ การอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีถูกนางสาววรารัตน์ ยื่นคัดค้านการจ่ายเงินเยียวยา ผู้ถูกฟ้องคดีโดยคณะกรรมการประเมินความเสียหายของทรัพย์สินจังหวัดยะลาจึงมีมติให้ชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมไปก่อนจนกว่าคดีเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกจะถึงที่สุด มติการให้ชะลอการจ่ายเงินดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองเช่นกัน ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดี ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดั่งกล่าว แล้วยื่นฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนมติคณะกรรมการประเมินความเสียหายที่ให้ชะลอการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม และให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมแก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายพรศักดิ์ ลีลาเกรียงศักดิ์ ผู้ฟ้องคดี ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share