คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้เขียนหนังสือชื่อ “ในเงื้อมมือมาร” ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันพุทธธรรม เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2548 โดยจำเลยเขียนข้อความในหน้า 170 ว่า “คุณแววดามีปัญหาทางจิตอย่างแน่นอน” หน้า 246 ว่า “คุณแววดาเขียนจดหมายร่วม 10 หน้า ส่งแฟกซ์กระจายความคิดชั่วช้าออกไป เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 เนื้อความในจดหมายเต็มไปด้วยความเท็จสกปรกโสมม ส่อนิสัยสันดานอันต่ำทรามและความโง่เง่า โดยเจตนาดุจเดียวกับสามี “ช่างทาสี”…” “คงยากที่จะหาใครซึ่งสามารถมีความคิดอันต่ำทรามเช่นนี้ได้ นอกจากผู้ที่วิปริตผิดปกติจนถึงที่สุดแล้วเท่านั้น ในวันที่พวกเรานำคุณศุภพรไปวัดเพื่อกราบลาพระประธาน คุณแววดายังตามไปอาละวาดและแสดงอาการวิปริตที่วัดอีก” ในหน้า 247 “ร่วมมือกับพระวันศักดิ์นำพาวัดไปสู่หายนะแล้วไม่สำนึก คนที่อยากเข้ามาบริหารวัดและคุมการเงินก็เห็นมีแต่พวกคุณแววดาและคุณมลทิพย์เท่านั้น… การใส่ร้ายป้ายสีเป็นความชำนาญเฉพาะด้านสำหรับคุณแววดา” ในหน้า 248 “พัฒนาการทางด้านจิตใจของคุณแววดานับว่ายังต่ำอยู่มาก เป็น “บัวใต้โคนโดนหินทับขนานแท้และดั้งเดิมยากที่จะประสบสิ่งเป็นสาระแก่นสารในชีวิตได้” ในหน้า 256 “พฤติกรรมที่คุณแววดาแสดงออกต่อหน้าสาธารณชน ทำให้ผู้คนตั้งฉายาบุคคลพิเศษนี้อย่างหลากหลาย หลังการประชุมในโบสถ์วัดพุทธธารา วันที่ 18 ธันวาคม 2548 บางคนเรียกเธอว่า “นางงิ้ววิกลจริต” หรือ “นางงิ้วหลงโรง…” ซึ่งชื่อแววดาหมายถึงโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน ปี 2547 และปี 2548 ต่อมาโจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดพุทธธรรมขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัด แยกออกเป็นหลายฝ่ายและกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมมลรัฐอิลลินอยส์ โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยสรุปได้ว่า จำเลยเป็นคนที่เคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชี ยักยอกเงินของวัดไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศภาษาอังกฤษติดไว้ที่หน้าวัดพุทธธรรม มีข้อความห้ามจำเลยเข้าไปในบริเวณวัด และจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี ดังนั้น การที่จำเลยเขียนหนังสือและแจกจ่ายหนังสือดังกล่าวก็เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรมและได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมของจำเลยที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ฎีกาจำเลยฟังขึ้น ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share