แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งอาจารย์ ได้รับอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ ๒๑,๒๐๐ บาท จึงเป็นกรณีที่โจทก์ตกลงจะทำงานให้จำเลย และจำเลยตกลงจะให้สินจ้างแก่โจทก์ตลอดเวลาที่ทำงานให้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามปพพ. มาตรา ๕๗๕ โจทก์และจำเลยจึงอยู่ในฐานะลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั่วไป เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์เรียกเงินค่าชดเชย โบนัส และค่าเสียหายตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นเงินที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องกรณีจำเลยผิดสัญญาจ้าง และใช้สิทธิเรียกร้องตามที่ได้รับการรับรองไว้ใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๒/๒๕๕๗
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลแรงงานภาค ๒ (ระยอง)
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานภาค ๒ (ระยอง)โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๖ นายนิเทศ วงษ์ปัญญา โจทก์ ยื่นฟ้องวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จำเลย ต่อศาลแรงงานภาค ๒ (ระยอง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ รย. ๓/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๕ โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งอาจารย์ (แผนกช่างยนต์) ได้รับอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ ๒๑,๒๐๐ บาท ต่อมา เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๖ จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาร้ายแรง กระทำอนาจาร สืบเนื่องมาจากการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ของวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี หลังจากเลิกงานโจทก์เดินทางกลับบ้านพร้อมพนักงานหญิงของวิทยาลัย ด้วยความมึนเมาโจทก์หอมแก้มพนักงานหญิง ๑ ครั้ง หลังเกิดเหตุโจทก์พยายามติดต่อเพื่อขอโทษผู้เสียหาย แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยได้ดำเนินการสอบสวนการกระทำของโจทก์ และมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ เมื่อโจทก์ติดต่อผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ การที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย โบนัส และค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ รวมเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพครู และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินโบนัส และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแรงงานภาค ๒ (ระยอง) พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นสถานศึกษา เป็นโรงเรียนเอกชนที่จัดตั้งขึ้น อนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ แต่เดิมชื่อโรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ ต่อมาได้มีการโอนกิจการให้บริษัทเทคโนโลยี ทีพีไอ จำกัด ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อผู้รับใบอนุญาตเป็นบริษัทเทคโนโลยีไออาร์พีซี จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนในการจัดตั้ง ในการเปลี่ยนเจ้าของกิจการ การเปลี่ยนชื่อ ล้วนต้องได้รับอนุญาตจากจังหวัดระยอง ซึ่งบริหารงานราชการส่วนภูมิภาคและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑ การเรียนการสอนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจจำเลยในการใช้อำนาจทางปกครองแทนรัฐแต่ประการใด จำเลยเป็นเพียงผู้ดำเนินธุรกิจทางการศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ การจัดจ้างครูหรือบุคลากรทางการศึกษา เป็นการจ้างแรงงานปกติตามสัญญาจ้างแรงงาน เพียงแต่การจ้างแรงงานมีบทบัญญัติของกฎหมายควบคุมต่างหาก จำเลยมิใช่หน่วยงานทางปกครอง สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์มิใช่สัญญาทางปกครอง เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็น “โรงเรียนในระบบ” อันเป็นสถานศึกษาของเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ แม้จำเลยมิได้มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่จำเลยก็เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้ดำเนินกิจการทางปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากรัฐให้ดำเนินกิจการดังกล่าว จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองเฉพาะการกระทำเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๕ จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งอาจารย์ (แผนกช่างยนต์) โดยโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย เดือนละ ๒๑,๒๐๐ บาท ต่อมาจำเลยได้มีประกาศวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นบุคลากรของจำเลย เนื่องจากโจทก์กระทำผิดต่อจรรยาบรรณครูโดยให้คำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๕ โจทก์เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินโบนัส ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่มีการพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้น เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวมีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์จ้างโจทก์ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ (แผนกช่างยนต์) เพื่อทำหน้าที่สอนนักเรียนในสถานศึกษาของจำเลย เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาซึ่งเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยบรรลุผล สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๖) เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว โดยกำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้นเป็นคดีประเภทหนึ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คดีนี้เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งอาจารย์ (แผนกช่างยนต์) ได้รับอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ ๒๑,๒๐๐ บาท จึงเป็นกรณีที่โจทก์ตกลงจะทำงานให้จำเลย และจำเลยตกลงจะให้สินจ้างแก่โจทก์ตลอดเวลาที่ทำงานให้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ โจทก์และจำเลยจึงอยู่ในฐานะลูกจ้างนายจ้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั่วไป แม้ว่าพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้กิจการของโรงเรียนเอกชนในระบบไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนก็ตาม แต่ความตอนท้ายของมาตราเดียวกันนั้น ก็บัญญัติรับรองไว้ว่า ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งปฏิบัติงานของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นความในมาตรา ๘๖ วรรคหนึ่งดังกล่าว จึงเป็นการเปิดโอกาสคณะกรรมการคุ้มครองการทำงาน และประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบ อาจกำหนดเรื่องประโยชน์ตอบแทนที่จะตกได้แก่ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ได้ เพียงแต่ประโยชน์ตอบแทนนั้นต้องไม่น้อยกว่ากฎหมายดังกล่าว มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า สัญญาที่จำเลยกระทำกับบุคคลใด อันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานแล้วจะไม่กลายเป็นสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์เรียกเงินค่าชดเชย โบนัส และค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นเงินที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องกรณีจำเลยผิดสัญญาจ้าง และใช้สิทธิเรียกร้องตามที่ได้รับการรับรองไว้ในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายนิเทศ วงษ์ปัญญา โจทก์ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ