คำวินิจฉัยที่ 110/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องกรมทางหลวงซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยตรงในการควบคุมเพื่อติดตั้งและจัดให้มีเครื่องหมายหรือป้าย และสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมถนนเพื่อความปลอดภัยในการจราจรแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทาง โดยโจทก์อ้างว่า กรมทางหลวงว่าจ้างจำเลยร่วมให้ก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงชนบทซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ ตามภารกิจของกรมทางหลวง แต่จำเลยร่วมมิได้แสดงเครื่องหมายสัญญาณหรือจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ โดยกรมทางหลวงมิได้ควบคุมกำกับดูแล เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยพุ่งเข้าชน กับท่อนไม้ที่ตั้งอยู่กลางถนน รถยนต์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้กรมทางหลวงซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงรับผิดในผลจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๐/๒๕๕๗

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแขวงขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงขอนแก่นโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้องกรมทางหลวงชนบท จำเลย ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามซีวิล ซัพพลาย จำเลยร่วม ต่อศาลแขวงขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๙/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์เก๋ง คันหมายเลขทะเบียน กจ-๑๑๓๗ เพชรบูรณ์ ไว้จากนางนันทิยา เชื้อสิทธิศักดิ์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ จำเลยจัดให้มีการบูรณะและปรับปรุงทางหลวงชนบท บริเวณถนนระหว่างบ้านเหล่าโพนทองกับบ้านดอนช้าง จังหวัดขอนแก่น โดยมิได้แสดงเครื่องหมายสัญญาณหรือจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้ใช้ทางทราบว่ามีการบูรณะและปรับปรุงทางหลวง เป็นเหตุให้นายสิทธิโชค เชื้อสิทธิศักดิ์ ซึ่งขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยแล่นมาตามถนนสายดังกล่าวพุ่งเข้าชนกับท่อนไม้ที่ตั้งอยู่กลางถนน รถยนต์ได้รับความเสียหายหลายรายการ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ทำการซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าวเรียบร้อยและส่งคืนผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานะผู้กระทำละเมิด ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างจำเลยร่วมให้ซ่อมผิวถนนสายดังกล่าว ขณะดำเนินการซ่อมแซมได้มีการติดตั้งป้ายเตือนระหว่างก่อสร้างและมีไฟส่องสว่างในจุดที่มีการก่อสร้างอย่างเพียงพอ อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสิทธิโชคเองหาใช่ความผิดของจำเลย ค่าเสียหายสูงเกินไป จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดและไม่อาจชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้หมายเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามซีวิล ซัพพลาย เข้าเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสิทธิโชค จำเลยร่วมไม่ได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อในระหว่างการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ประเด็นแห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องเอาค่าเสียหายจากมูลละเมิดจากจำเลยร่วมผู้กระทำละเมิดโดยตรงซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน ส่วนจำเลยเป็นเพียงหน่วยงานทางปกครองซึ่งอยู่ในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยร่วมเท่านั้น เหตุละเมิดคดีนี้จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงชนบทซึ่งเป็นการจัดทำภารกิจของจำเลยที่เป็นบริการสาธารณะ แม้ความเสียหายจะเกิดจากการที่จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายภารกิจของจำเลยไม่ติดตั้งเครื่องหมาย สัญญาณ หรือจัดให้มีแสงสว่างให้เพียงพอในบริเวณที่เกิดเหตุก็ตาม แต่จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงชนบทและอธิบดีของจำเลยในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงชนบทจะต้องควบคุมกำกับดูแลจำเลยร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของตนให้ถูกต้องภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของจำเลยร่วม ข้อพิพาทจึงมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยจำเลยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงชนบท รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔ กำหนดนิยามคำว่า “ทางหลวง” หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก…และหมายความรวมถึง…ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ…และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย กำหนดนิยามคำว่า “งานทาง” หมายความว่า กิจการใดที่ทำเพื่อหรือเนื่องในการสำรวจ การก่อสร้าง การขยาย การบูรณะหรือการบำรุงรักษาทางหลวง หรือการจราจรบนทางหลวง และกำหนดนิยามคำว่า “ผู้อำนวยการทางหลวง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอำนาจและหน้าที่หรือได้รับแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงและงานทางเฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง หรือเฉพาะสายใดสายหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา ๒๐ บัญญัติให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงชนบท ดังนั้น จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยตรงในการควบคุมเพื่อติดตั้งและจัดให้มีเครื่องหมายหรือป้าย และสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมถนน เพื่อความปลอดภัยในการจราจรแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทาง เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่า จำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแล ก่อสร้าง บำรุงรักษา ซ่อมแซมทางหลวงให้อยู่ในสภาพใช้การได้ และปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ทางหลวงได้ว่าจ้างจำเลยร่วมให้ก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงชนบทซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามภารกิจของจำเลย แต่จำเลยร่วมมิได้แสดงเครื่องหมายสัญญาณหรือจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้ใช้ทางทราบว่ามีการบูรณะและปรับปรุงทางหลวงโดยจำเลยมิได้ควบคุมกำกับดูแล เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยพุ่งเข้าชนกับท่อนไม้ที่ตั้งอยู่กลางถนน รถยนต์ได้รับความเสียหายหลายรายการ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงรับผิดในผลจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ กรมทางหลวงชนบท จำเลย ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามซีวิล ซัพพลาย จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share