คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6973/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีแพ่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ และข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายฟังได้ชัดแจ้งอย่างใดแล้ว ศาลก็ยกข้อกฎหมายขึ้นปรับแก่คดีได้เอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายตามสัญญาพิพาท จำเลยต่อสู้ว่า ไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์จึงไม่ต้องรับผิด ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เป็นข้อ 3 มีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตอบแทนหรือค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาพิพาทโดยตรงแม้ ผ. ผู้ลงชื่อในสัญญาจะมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยและจำเลยมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ผ. เป็นตัวแทนจำเลยก็ตาม แต่เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยได้อยู่รู้เห็นในการทำสัญญาทั้งได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วย ถือได้ว่าจำเลยเชิด ผ.ออกเป็นตัวแทนของตนผ. จึงทำสัญญากับโจทก์ในฐานะตัวแทนจำเลย มีผลเท่ากับจำเลยทำสัญญากับโจทก์จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวนั้น จึงหาใช่เป็นการพิพากษานอกฟ้องประเด็นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโจทก์เป็นผู้ครอบครองและประกอบกิจการโรงแรมปัน ปัน เกสท์เฮ้าส์ให้บุคคลทั่วไปเช่าห้องพักอาศัย และจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มเมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2532 จำเลยได้ก่อสร้างอาคารชุดเลขที่ 317 ซึ่งอยู่ติดกับโรงแรมปัน ปัน เกสท์เฮ้าท์ ขณะทำการก่อสร้างทำให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้เช่าเมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2532 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญากัน โดยจำเลยยอมชำระค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท ภายในวันที่ 5 ของเดือนนับแต่เดือนกันยายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ แต่จำเลยชำระให้โจทก์ไม่ครบโดยค้างชำระ7 เดือน เป็นเงิน 140,000 บาท และในการก่อสร้างอาคารของจำเลยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2533 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 5,340 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าตอบแทนที่ค้างชำระกับค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์และจำเลยยังคงทำการก่อสร้างอาคาร ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนอยู่เช่นเดิม ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าตอบแทนและค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 145,340 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 20,000 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะก่อสร้างอาคารเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ประกอบการค้ากิจการโรงแรมปัน ปัน เกสท์เฮ้าท์ และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้จ้างเหมาบริษัทพีนีโอ เทรดดิ้งจำกัด และบริษัทเอส.เอส.เอ็นยิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัดทำการก่อสร้างอาคารชุดตามฟ้อง ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ทำการก่อสร้างโดยไม่ก่อให้ความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ได้ทำการก่อสร้างด้วยตนเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของผู้รับจ้างเหมา จำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ่ายตอบแทนให้โจทก์ตามฟ้อง ทรัพย์สินของโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหายให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 145,340 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะก่อสร้างอาคารชุดแล้วเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์อีกเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะก่อสร้างงานโครงสร้างอาคารชุดแล้วเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์เป็นผู้เช่าดำเนินกิจการโรงแรมปัน ปัน เกสท์เฮ้าท์ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด นายอานุภาพ วงศ์นาค เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลย จำเลยเป็นเจ้าของอาคารชุด 12 ชั้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างติดกับโรงแรมปัน ปัน เกสท์เฮ้าท์ โดยจำเลยจ้างเหมาบริษัทพีนีโอ เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนายผาย ทับทิมโตเป็นกรรมการผู้จัดการระหว่างการก่อสร้างโจทก์ได้รับความเสียหายจึงได้มีการทำสัญญาตกลงยินยอมให้ทำการก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.10ซึ่งมีใจความว่า โจทก์ยอมให้จำเลยทำการก่อสร้างอาคารติดกับโรงแรมที่โจทก์เช่าดำเนินการอยู่ โดยโจทก์ยอมให้จำเลยตอกเสาเข็มตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา หากเสาเข็มที่ตอกยังค้างอยู่ก็ให้ตอกจนเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการก่อสร้างกับให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่เดือนกันยายน 2532 จนกว่างานโครงสร้างจะแล้วเสร็จ โดยโจทก์จะไม่แจ้งความเสียหายและเรียกร้องเอาความใด ๆ ทั้งสิ้น โดยโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียกร้องนายผายลงลายมือชื่อในช่องผู้ให้สัญญา นายอานุภาพลงลายมือชื่อในช่องพยาน เห็นว่าในคดีแพ่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ และข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายฟังได้ชัดแจ้งอย่างใดแล้ว ศาลก็ยกข้อกฎหมายขึ้นปรับแก่คดีได้เอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายตามสัญญาเอกสารหมาย จ.10 จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิด ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เป็นข้อ 3 มีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตอบแทนหรือค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาเอกสารหมาย จ.10 โดยตรง แม้นายผายผู้ลงชื่อในสัญญาจะมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยและจำเลยมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายผายเป็นตัวแทนจำเลย แต่นายอานุภาพกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยได้อยู่รู้เห็นในการทำสัญญาทั้งได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วย ถือได้ว่าจำเลยเชิดนายผายออกเป็นตัวแทนของตน นายผายจึงทำสัญญากับโจทก์ในฐานะตัวแทนจำเลยมีผลเท่ากับจำเลยทำสัญญากับโจทก์ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว จึงหาใช่เป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นไม่
พิพากษายืน

Share