คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 นับถึงวันฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2539 ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 43, 78, 148, 157, 160 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12, 60
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสว่าง บิดาของนายสุทธิพัฒน์ จ่าสิบเอกสุรินทร์ บิดาของนางสาวจันทิมายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 โดยเรียกนายสว่างว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และจ่าสิบเอกสุรินทร์ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อมาจ่าสิบเอกสุรินทร์ถึงแก่ความตาย นางอุรา มารดาของนางสาวจันทิมายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 43 (4), 78, 148, 157, 160 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถที่มีสิ่งของอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบถ้วนถูกต้องเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 60 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วหลบหนีจำคุก 2 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสี่ กระทงแรกคงปรับ 1,500 บาท กระทงที่สองจำคุก 3 ปี กระทงที่สามจำคุก 1 เดือน 15 วัน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 1 เดือน 15 วัน และปรับ 1,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำรถที่ไฟท้ายชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ออกขับไปตามท้องถนนย่อมเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย และการที่ขับในเวลากลางคืน ไฟท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านขวาเป็นอุปกรณ์สำคัญของรถที่จะทำให้รถคันที่ตามหลังมาเห็นได้ชัดว่าเป็นรถขนาดใหญ่หรือรถจักรยานยนต์ แต่จำเลยก็ไม่ซ่อมแซมไฟท้ายดังกล่าวให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี นอกจากนี้จำเลยขับรถบรรทุกหินออกมาจากซอยข้างถนน ก่อนที่จะขับเข้าถนนควรที่จะดูให้ปลอดภัยก่อนว่ามีรถแล่นมาหรือไม่ แต่จำเลยไม่ได้นำพากลับขับรถออกจากซอยโดยไฟท้ายด้านขวาใช้การไม่ได้เข้าสู่ถนนหลักในระยะกระชั้นชิดกับที่ผู้ตายขับรถมา จึงเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันห่างจากปากซอยที่จำเลยขับออกมาประมาณ 38 เมตร จึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลย แม้จะฟังได้ว่านายสุทธิพัฒน์ขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ตาม แต่บริเวณดังกล่าวเป็นทางตรงสองข้างทางส่วนมากเป็นป่า ไม่มีรถแล่น หากจำเลยระมัดระวังดูแลรถมิให้ชำรุดบกพร่อง และขับรถออกจากซอยโดยให้นายสุทธิพัฒน์ขับรถผ่านไปก่อน เหตุการณ์เฉี่ยวชนก็จะไม่เกิดขึ้น หรือหากจำเลยขับรถโดยมีไฟท้ายทั้งด้านซ้ายและด้านขวาติดสว่าง นายสุทธิพัฒน์มองเห็นย่อมจะต้องขับรถหลบหลีกรถคันที่จำเลยขับได้ ย่อมไม่เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น แม้นายสุทธิพัฒน์จะขับรถด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากขับมาถึงบริเวณดังกล่าวโดยจำเลยขับรถที่ไฟท้ายด้านขวาชำรุดหลอดไฟขาดไม่ส่องแสงให้รถคันหลังได้เห็น และขับออกจากถนนซอยโดยไม่ให้รถที่แล่นมาตามถนนหลักไปก่อนก็ย่อมต้องเฉี่ยวชนกัน จึงถือไม่ได้ว่านายสุทธิพัฒน์มีส่วนร่วมในการกระทำโดยประมาทครั้งนี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 19 ตุลาคม 2538 คดีของโจทก์สำหรับความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share