แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หุ้นที่ยังไม่ได้ออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่เป็นหุ้นที่มีหลายเลขใบหุ้นแล้ว การซื้อหุ้นดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ตกลงขายหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 หุ้น หมายเลข 190001 ถึง 200000 ให้แก่โจทก์ในราคา 2,000,000 บาท ตกลงกันจะชำระราคาค่าหุ้นเมื่อโจทก์ได้รับเงินปันผลจากจำเลยที่ 2 โดยให้นำเงินปันผลชำระและให้สิทธิโจทก์ว่าเมื่อโจทก์ไม่ประสงค์เป็นผู้ถือหุ้นให้โจทก์มีหนังสือแจ้งการขอโอนหุ้นคืนและจำเลยที่ 1 จะคืนเงินค่าหุ้นแก่โจทก์ตามที่ได้รับมา และดำเนินการเปลี่ยนแปลงสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 2 รับรู้ข้อตกลงดังกล่าว นับแต่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้น โจทก์ไม่เคยได้รับเงินปันผลจากจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ประสงค์จะเป็นผู้ถือหุ้นอีกต่อไปจึงมีหนังสือแจ้งจำเลยทั้งสองขอโอนหุ้นคืนแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แจ้งการเปลี่ยนแปลงการโอนหุ้นหมายเลข 190001 ถึง 200000 ในบริษัทจำเลยที่ 2 ไปยังจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไปดำเนินการแก้ไขสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหมายเลขดังกล่าวจากชื่อโจทก์มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาคร หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงทะเบียนหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงขายหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 หุ้น โดยมีเงื่อนไขตามฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้น 190001 ถึง 200000 ตามสำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.2 จ.3 และ จ.6 ต่อมาโจทก์มีความประสงค์ที่จะโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าไม่มีความประสงค์ที่จะถือหุ้นดังกล่าวอีกต่อไปจึงขอโอนคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับโอนหุ้นดังกล่าวจากโจทก์และจำเลยที่ 2 จะต้องแก้ไขสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและจดทะเบียนแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เองมาเบิกความว่าโจทก์ได้ช่วยเหลือกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2534 โดยตลอด ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ตกลงขายหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 หุ้น ดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์ยังไม่ต้องชำระราคาค่าหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 แต่หากจำเลยที่ 2 มีเงินปันผลจากผลกำไรออกมาแล้วจึงให้ทยอยชำระแก่จำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่มีผลกำไรโจทก์ก็จะโอนหุ้นทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ หลังจากนั้นโจทก์ไม่เคยได้รับเงินปันผลจากจำเลยที่ 2 และเนื่องจากโจทก์เป็นนักการเมืองถ้ามีหุ้นอยู่ในบริษัทจะมีปัญหาจึงมีความประสงค์จะโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 คืนแก่จำเลยที่ 1 และได้มีหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ขอโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 คืนพร้อมกับแนบหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ส่งไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้โต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น เห็นว่า โจทก์คงมีตัวโจทก์เองเพียงปากเดียวเบิกความอ้างลอยๆ อีกทั้งหนังสือขอโอนหุ้นคืนเอกสารหมาย จ.4 ก็เป็นเอกสารที่ฝ่ายโจทก์จัดทำขึ้นเองและหนังสือสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย จ.5 ก็ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้รับโอนแต่ประการใด นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือและสัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 แล้วก็มิได้โต้แย้งถึงข้อตกลงตามที่โจทก็อ้างดังกล่าว แต่อย่างใดก็ตามกรณีเช่นนี้ก็จะถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าในข้อตกลงตามที่โจทก์อ้างในหนังสือเอกสารหมาย จ.4 ไม่ได้ ส่วนที่โจทก์นำสืบอ้างว่าโจทก์เคยถือหุ้นแทนนายวาณิชกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 มาก่อนเช่นกันตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.11 แต่โจทก์ได้โอนหุ้นดังกล่าวคืนนายวาณิชไปแล้วนั้น ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายวาณิชบุคคลที่โจทก์อ้างถึงเพียงลำพัง อีกทั้งโจทก์มิได้นำบุคคลที่อ้างถึงดังกล่าวมาเบิกความยืนยัน ฉะนั้นจะด่วนสรุปเอาว่าจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงและจะต้องปฏิบัติต่อโจทก์ตามที่โจทก์ต้องการดังเช่นนายวาณิชหาได้ไม่ ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายหุ้นพิพาทให้แก่โจทก์โดยมีข้อตกลงให้สิทธิโจทก์โอนหุ้นคืนแก่จำเลยที่ 1 เมื่อใดก็ได้ตามที่โจทก์ต้องการโดยจำเลยที่ 2 รับรู้และจะปฏิบัติตามดังที่โจทก์ฟ้องและนำสืบ ส่วนที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับโอนหุ้นคืนตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มีข้อตกลงกันไว้ มิใช่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาโอนหุ้นโดยตรงนั้น เห็นว่า แม้หากจะมีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างดังกล่าวจริงหรือไม่ก็ตาม ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข้อตกลงดังกล่าวมีผลถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับโอนหุ้นพิพาทคืนจากโจทก์นั่นเอง ข้อตกลงเช่นนี้จึงเสมือนหนึ่งเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีฝ่าฝืนหรือต้องการหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง ที่บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนนั่นเอง แม้โจทก์จะอ้างในฎีกาว่าหุ้นพิพาทเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ออกใบหุ้นให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.3 และ จ.6 อยู่แล้วว่าจำนวนหุ้นพิพาทที่โจทก์ถืออยู่เป็นใบหุ้นที่มีหมายเลขเท่าใด กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้ครอบครองหุ้นพิพาทซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือหุ้นลงในใบหุ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้รับโอนหุ้นพิพาทคืนและให้จำเลยที่ 2 แก้ไขสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้วไปขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาครตามฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่ได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้