แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อน้ำที่โจทก์สูบเข้าไปในบ่อตกปลาของโจทก์เป็นน้ำที่มีสารพิษอันเนื่องจากโรงงานของจำเลยปล่อยน้ำทิ้งลงสู่คูน้ำสาธารณะและเป็นเหตุให้ปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ดังกล่าวตาย การที่จำเลยไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่า น้ำจากโรงงานของจำเลยที่ระบายลงสู่ท่อน้ำทิ้งและไหลลงสู่คูน้ำสาธารณะดังกล่าวเป็นน้ำใสและปลอดจากสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ ลำพังคำเบิกความลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนโดยเฉพาะพยานผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่ปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย
แม้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงความเสียหายได้แน่ชัด แต่รูปการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบแสดงความเสียหายของปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ ศาลย่อมกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,715,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 เมษายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการบ่อตกปลาน้ำจืด เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ โดยเลี้ยงปลาบึก ปลาสวาย และปลากระโห้ และยังเปิดบริการเป็นร้านขายอาหารให้ลูกค้าตกปลา จำเลยประกอบธุรกิจตั้งโรงงานผลิตอะไหล่รถจักรยานยนต์อยู่ห่างบ่อตกปลาของโจทก์ประมาณ 500 เมตร กิจการของโจทก์และจำเลยอยู่ใกล้คูน้ำสาธารณะเลียบซอยเพชรเกษม 91 คูน้ำดังกล่าวเชื่อมต่อกับคลองภาษีเจริญซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน โรงงานของจำเลยมีท่อระบายน้ำเสียออกจากโรงงานลงสู่คูน้ำสาธารณะดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา โจทก์สูบน้ำจากคูน้ำสาธารณะดังกล่าวเข้าไปในบ่อตกปลาเป็นเหตุให้ปลาในบ่อตายไปจำนวนมาก มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เหตุที่ปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2543 เป็นต้นมาโจทก์สูบน้ำจากคูน้ำเข้าไปในบ่อตกปลา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2543 ได้ปล่อยปลาลงบ่อ ต่อมาได้สูบน้ำจากคูน้ำเข้าไปในบ่อตกปลาเพิ่มเติมเนื่องจากน้ำในบ่อไม่เพียงพอโดยสูบเฉพาะช่วงน้ำขึ้นในตอนเช้าและเย็น วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกา โจทก์สูบน้ำจากคูน้ำเข้าไปในบ่อตกปลาอีก แล้วเห็นปลามีอาการลอยหัวเพื่อหายใจเหนือน้ำแสดงว่าอากาศไม่เพียงพอ และปลามีอาการชัก ตัวซีด กระโดดขึ้นมาตายบนบก โจทก์ใช้เครื่องตีน้ำในบ่อเพื่อเพิ่มอากาศแต่ไม่สามารถช่วยได้เป็นเหตุให้ปลาตายหมด โจทก์จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และนำน้ำจากบ่อตกปลาและน้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งของโรงงานจำเลยไปตรวจสอบ พบว่ามีสารเจือปนในน้ำเหมือนกัน ต่อมาได้นำน้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งของโรงงานจำเลยไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้รับแจ้งผลการตรวจว่ามีสารเคมีเช่นเดียวกัน นายพิษณุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เบิกความว่า หลังจากโจทก์มาแจ้งเหตุให้พยานทราบ พยานไปดูบ่อตกปลาของโจทก์ พบว่าปลาตายจำนวนมาก โจทก์บอกว่าเนื่องจากสูบน้ำจากคูน้ำเข้ามาในบ่อ พยานจึงบอกให้ไปรองน้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งรวม 4 โรงงาน แล้วแยกใส่แต่ละถัง เมื่อปล่อยปลาลงในถังปรากฏว่าปลาในถังที่รองน้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งของโรงงานจำเลยอยู่ได้ 1 ถึง 2 นาที ก็กระโดดขึ้นมาตาย พยานจึงให้รองน้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งของโรงงานจำเลยไปตรวจ โดยพยานลงลายมือชื่อกำกับไว้ที่ขวดน้ำ นางอังสนา นักวิทยาศาสตร์ผู้ตรวจพิสูจน์น้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งโรงงานจำเลยเบิกความว่า จากการตรวจสอบพบว่าน้ำมีความเป็นกรด ด่าง สารปรอท สารตะกั่ว และน้ำประสานทองเกินมาตรฐานซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้แน่นอน และสิบตำรวจโทวิวัฒน์ กับพระจิรวัฒฑโน เบิกความว่า พยานได้ไปดูบ่อตกปลาของโจทก์พบว่าปลาตายจำนวนมาก นอกจากนี้ตามรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2543 ปรากฏว่ามีแนวท่อฝังดินจากโรงงานของจำเลยเพียงโรงงานเดียวที่ระบายน้ำสู่คูน้ำสาธารณะเลียบซอยเพชรเกษม 91 ตามพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักบ่งชี้ว่าน้ำที่โจทก์สูบเข้าไปในบ่อตกปลาและเป็นเหตุให้ปลาตายนั้น เป็นน้ำที่มีสารพิษอันเนื่องมาจากโรงงานของจำเลยปล่อยน้ำทิ้งลงสู่คูน้ำสาธารณะเลียบซอยเพชรเกษม 91 ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า โรงงานของจำเลยมีบ่อบำบัดน้ำเสีย 2 บ่อ มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอย่างน้อยครึ่งปีต่อครั้ง ไม่มีสารเคมีทั้ง 4 ชนิด ตามที่โจทก์ฟ้อง โรงงานของจำเลยใช้วิธีต้มไขมันออกจากสกรูนอตและนำไปอบแห้ง น้ำที่ต้มและล้างไขมันสกรูนอตดังกล่าวเมื่อผ่านบ่อบำบัดน้ำเสียจะตกตะกอนลงข้างล่าง ส่วนน้ำที่อยู่ส่วนบนจะเป็นน้ำใส เมื่อระบายลงสู่ท่อระบายน้ำทิ้งเข้าคูน้ำสาธารณะเลียบซอยเพชรเกษม 91 ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมนั้น เห็นว่า จำเลยมีเพียงนายชูศักดิ์ และนายชาญ กรรมการบริษัทจำเลยมาเบิกความลอยๆ เท่านั้น เมื่อจำเลยนำสืบรับว่ามีการระบายน้ำลงสู่ท่อระบายน้ำทิ้ง ซึ่งไหลลงสู่คูน้ำสาธารณะเลียบซอยเพชรเกษม 91 จริง จำเลยไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าน้ำจากโรงงานของจำเลยที่ระบายลงสู่ท่อน้ำทิ้ง และไหลลงสู่คูน้ำสาธารณะเลียบซอยเพชรเกษม 91 ดังกล่าวเป็นน้ำใสและปลอดจากสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตรวมทั้งปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ด้วย ลำพังคำเบิกความลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนโดยเฉพาะพยานผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังและแม้บริเวณใกล้เคียงบ่อตกปลาของโจทก์จะมีโรงงานอื่นอีกหลายโรง รวมทั้งโรงงานหล่อพระพุทธรูปอยู่บริเวณใกล้บ่อตกปลาของโจทก์ แต่ขณะเกิดเหตุโจทก์และนายพิษณุตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติจากโรงงานอื่นแต่อย่างใด คงมีแต่โรงงานของจำเลยเท่านั้นที่ปล่อยน้ำทิ้งซึ่งมีสีผิดปกติ ส่วนชุมชนใกล้เคียงก็มีประชาชนอยู่ไม่มากนัก ไม่น่าจะทิ้งของเสียมากจนถึงขนาดเป็นเหตุให้น้ำในคูน้ำสาธารณะเลียบซอยเพชรเกษม 91 เป็นพิษจนเป็นเหตุให้ปลาตายได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่ปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น และเห็นควรวินิจฉัยต่อไปในประเด็นค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยก่อน ประเด็นนี้โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายเต็มตามฟ้องของโจทก์ เห็นว่า โจทก์คงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ประกอบภาพถ่ายที่แสดงความเสียหายของปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ซึ่งประมาณแล้วไม่ถึง 2,000,000 บาทเศษตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่แสดงความเสียหายได้แน่ชัด แต่จากรูปการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบมา การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท นั้น เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงค่าเสียหายเป็นอย่างอื่น ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นนี้ให้จำเลยใช้แทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกานั้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา ส่วนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ