คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4924/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในอีกคดีหนึ่งฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวรับผิดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยร่วมกระทำผิดสัญญาโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับที่กล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้ ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้และคดีดังกล่าวจึงมีประเด็นอย่างเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยร่วมดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ในกรณีที่บริษัท ว. ไม่คืนหนังสือคํ้าประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาและหนังสือคํ้าประกันการคืนเงินเบิกล่วงหน้าให้แก่กิจการร่วมค้า ส. และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยร่วมคู่ความในคดีนี้ต่างเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์และจำเลยร่วมในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยร่วมในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่สำหรับจำเลยนั้น เมื่อจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าในคดีดังกล่าวศาลจะพิพากษาว่าจำเลยร่วมไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่คดียังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากในชั้นที่สุดศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นประการใด ผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันทั้งโจทก์และจำเลยร่วมในคดีนี้ด้วย และคดีนี้ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำให้การของจำเลยต่อไปอีกว่า หนังสือค้ำประกันที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นการค้ำประกันครอบคลุมความรับผิดในความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,903,343.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,886,240.65 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทอลูเมเยอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยร่วมยื่นคำร้องขอให้ชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 117/2557 ของศาลชั้นต้นหรือไม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า คดีนี้ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 117/2557 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินตามหนังสือคํ้าประกันที่จำเลยออกให้ไว้แก่โจทก์ ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าว ทั้งคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องคดีนี้แล้ว ภายหลังคดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยร่วมเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ แม้ศาลจะฟังว่ากรณีของโจทก์กับจำเลยร่วมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้า แต่ศาลก็ยังต้องดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยต่อไป ดังนั้น การวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามคำร้องของจำเลยร่วมจึงไม่มีผลทำให้ไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว กรณีตามคำร้องของจำเลยร่วมจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า แม้คดีหมายเลขแดงที่ 117/2557 ของศาลชั้นต้น จะยังไม่ถึงที่สุดและจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่ประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ไม่คืนหนังสือคํ้าประกันการปฏิบัติงานตามสัญญา (Performance Bond) และหนังสือคํ้าประกันการคืนเงินเบิกล่วงหน้า (Advance Bond) ให้แก่กิจการร่วมค้าสยามซินเท็ค – ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งหรือไม่ เมื่อคดีดังกล่าวศาลวินิจฉัยว่า จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์คดีนี้สำหรับจำเลยร่วมจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 สำหรับในส่วนของจำเลยนั้น เมื่อโจทก์ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ว่า จำเลยร่วมไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยในฐานะผู้คํ้าประกันจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยและจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลย 5,000 บาท และค่าทนายความให้จำเลยร่วม 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ว่าจ้างกิจการร่วมค้าสยามซินเท็ค – ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งรับเหมาก่อสร้างอาคารศูนย์ควบคุมการบินในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ต่อมากิจการร่วมค้าสยามซินเท็ค – ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งว่าจ้างให้บริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างช่วง แล้วบริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้รับจ้างช่วงอีกทอดหนึ่ง และโจทก์ว่าจ้างให้จำเลยร่วมเป็นผู้รับจ้างช่วงต่อจากโจทก์ ก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยร่วมยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ในคดีหมายเลขแดงที่ 117/2557 เรียกให้โจทก์ชำระค่าจ้าง ค่าเสียหาย คืนเงินประกันผลงานและหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยร่วม ซึ่งโจทก์ให้การและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยร่วม โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้โจทก์ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย กับให้ส่งมอบหนังสือคํ้าประกันที่ออกโดยจำเลยในคดีนี้คืนแก่จำเลยร่วมซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว และให้ยกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามคำพิพากษาของจำเลยและเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยร่วม คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยโจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบหนังสือคํ้าประกันคืนให้แก่จำเลยร่วมตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว แต่นำหนังสือคํ้าประกันมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 117/2557 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยร่วมผิดสัญญาจ้างเพราะส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนด 2 ปีเศษ ทำให้กิจการร่วมค้าสยามซินเท็ค – ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งไม่สามารถส่งมอบงานภายในกำหนดเวลาที่ตกลง และงานที่จำเลยร่วมรับเหมาช่วงต่อจากโจทก์เกิดความชำรุดบกพร่อง แต่จำเลยร่วมไม่รีบดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลารับประกันผลงาน เป็นเหตุให้บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ใช้สิทธิยึดถือหนังสือคํ้าประกันการคืนเงินเบิกล่วงหน้า (Advance Bond) และหนังสือคํ้าประกันการปฏิบัติงานตามสัญญา (Performance Bond) ไว้ ทำให้กิจการร่วมค้าสยามซินเท็ค – ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งได้รับความเสียหาย กิจการร่วมค้าสยามซินเท็ค – ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งจึงเรียกให้บริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ชำระค่าเสียหาย บริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงเรียกให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย โดยบริษัทสยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หักเงินค่าเสียหายจากค่าจ้างที่ต้องจ่ายให้โจทก์ 2,886,240.65 บาท จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยในฐานะผู้คํ้าประกันตามหนังสือคํ้าประกัน ฉบับลงวันที่ 5 สิงหาคม 2547 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 117/2557 ของศาลชั้นต้น ปรากฏตามคำพิพากษาเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยและเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยร่วมว่า โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวรับผิดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยร่วมกระทำผิดสัญญาโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับที่กล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้ ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้และคดีดังกล่าวจึงมีประเด็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยร่วมเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างและต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยร่วมดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ในกรณีที่บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ไม่คืนหนังสือคํ้าประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาและหนังสือคํ้าประกันการคืนเงินเบิกล่วงหน้าให้แก่กิจการร่วมค้าสยามซินเท็ค – ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยร่วมคู่ความในคดีนี้ต่างเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์และจำเลยร่วมในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยร่วมในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่สำหรับจำเลยนั้น เมื่อจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำสำหรับจำเลย แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าในคดีดังกล่าวศาลจะพิพากษาว่าจำเลยร่วมไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากในชั้นที่สุดศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นประการใด ผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันทั้งโจทก์และจำเลยร่วมในคดีนี้ด้วย และคดีนี้ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำให้การของจำเลยต่อไปอีกว่า หนังสือค้ำประกันที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นการค้ำประกันครอบคลุมความรับผิดในความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ต่อไป ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นต่อไป
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเพียงแต่ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ มิได้ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ชั้นละ 78,066 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรอฟังผลคดีหมายเลขแดงที่ 117/2557 ของศาลชั้นต้น จนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุด แล้วพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งใหม่เมื่อมีคำพิพากษาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์

Share