คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้มาตรา 66 และมาตรา67 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จะกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดตามมาตรา 67 (1) ถึง (4) แต่คดีการไต่สวนข้อกล่าวหาความผิดของจำเลยเข้ามาสู่การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย พ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของ พ. และหนังสือส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ของสถานีตำรวจภูธรเมืองน่าน มีรายละเอียดของข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาพร้อมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของ ท. จำเลย และผู้เกี่ยวข้องให้กรมสามัญศึกษาทราบก็เพื่อให้พิจารณาว่ากรมสามัญศึกษาได้รับความเสียหายจากจำเลยและประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้องว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ เมื่อกรมสามัญศึกษายืนยันว่าได้รับความเสียหายและขอร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แสดงว่ากรมสามัญศึกษาประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้อง แม้หนังสือร้องทุกข์ของกรมสามัญศึกษาดังกล่าวจะระบุเพียงความเสียหายโดยไม่มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่กรมสามัญศึกษาจะต้องระบุซ้ำอีก ถือได้ว่ากรมสามัญศึกษายื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และมาตรา 67 ระบุไว้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวน เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดทางอาญาและส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 97 ย่อมถือได้ว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 91, 151, 157 และ 162 (1) (4)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จำคุก 8 ปี ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำคุก 2 ปี รวมจำคุกจำเลย 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อปี 2540 ขณะจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ได้เสนอของบประมาณตามโครงการพัฒนาจังหวัดของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จัดซื้อรถยนต์ตรวจการณ์ 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ 1 คัน ให้แก่โรงเรียนแม่จริม อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน โรงเรียนแม่จริมดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบของราชการและนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนขนส่งจังหวัดน่านได้หมายเลขทะเบียน นข 71 น่าน หลังจากนั้นนายทวีศักดิ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนแม่จริม อนุมัติให้จำเลยยืมรถยนต์ไปใช้ โดยในขณะนั้นยังไม่ได้ติดตราเครื่องหมายประจำส่วนราชการและอักษรชื่อเต็มของโรงเรียนแม่จริมด้านนอกรถทั้งสองข้าง โดยไม่ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นจากปลัดกระทรวง ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 ข้อ 7 กำหนดไว้ โดยนายทวีศักดิ์จัดทำใบยืมให้จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ยืมรวม 23 ฉบับ ระบุเหตุผลในการยืมว่าใช้ในการออกเยี่ยมประชาชนและประสานงานกิจการโรงเรียน ต่อมานางสาวพูนสุขร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นายทวีศักดิ์ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้บุคคลมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ เรียก รับผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองโดยมิชอบ และให้ดำเนินคดีแก่นางสุกัญญา ภริยาจำเลยในกรณีใช้รถไม่ตรงกับรายการจดทะเบียน นายทวีศักดิ์จึงทำบันทึกรับรถยนต์คืน ตามบันทึกการส่ง-รับคืนรถยนต์ พนักงานสอบสวนสอบสวนแล้วส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ดำเนินการ ตามหนังสือสถานีตำรวจภูธรเมืองน่าน ที่ นน 0120/3333 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2543 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วรับฟังว่าจำเลยในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่านเป็นผู้เสนอของบประมาณและแปรญัตติงบประมาณเพื่อขอจัดซื้อรถยนต์ให้แก่โรงเรียนแม่จริม โดยน่าเชื่อว่ามีเจตนาที่จะนำรถยนต์ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน เนื่องจากเมื่อโรงเรียนแม่จริมได้รับรถยนต์มาแล้วจำเลยได้นำรถยนต์ไปใช้ทันที การกระทำของจำเลยจึงมีเหตุพิจารณาว่าได้ร่วมกระทำความผิดกับนายทวีศักดิ์ในลักษณะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนหรือไม่ มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของนายทวีศักดิ์ จำเลย และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยสังเขปให้กรมสามัญศึกษาทราบ และพิจารณาว่ากรมสามัญศึกษาได้รับความเสียหายจากจำเลยหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้หากกรมสามัญศึกษาเห็นว่าได้รับความเสียหายและประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้องว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่แล้ว ขอให้กรมสามัญศึกษายื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และมาตรา 67 ต่อไป ตามมติการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือด่วนที่ ปช.0004/1222 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 ให้กรมสามัญศึกษายื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสามัญศึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า กรมสามัญศึกษาน่าจะได้รับความเสียหายเนื่องจากโรงเรียนแม่จริมไม่ได้ใช้ประโยชน์รถยนต์ และมีค่าเสื่อมราคาอันเกิดจากการนำรถยนต์ไปใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2543 ขอร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือที่ ศธ.0802/2418 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยและมูลความผิดอาญาโดยกล่าวหานายทวีศักดิ์ว่า ทุจริตต่อหน้าที่และไม่ปฏิบัติตามระเบียบของราชการ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,157 และ 162 และจำเลยเป็นผู้สนับสนุนให้นายทวีศักดิ์กระทำความผิดดังกล่าว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้การไต่สวนข้อเท็จจริงที่กล่าวหาจำเลยในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่านและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาตรา 66 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ก่อนมีการแก้ไขตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง จะกำหนดให้ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดตามมาตรา 67 (1) ถึง (4) ได้แก่ ชื่อและที่อยู่ของผู้เสียหาย ชื่อและที่อยู่ของผู้ยื่นคำร้องแทน ความเกี่ยวพันกับผู้เสียหาย (ถ้ามี) ชื่อหรือตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ความเสียหายที่ได้รับพร้อมพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ก็ตาม แต่คดีการไต่สวนข้อกล่าวหาความผิดของจำเลยเข้ามาสู่การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยนางสาวพูนสุข ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ การร้องทุกข์ของนางสาวพูนสุขและหนังสือส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ของสถานีตำรวจภูธรเมืองน่านมีรายละเอียดของข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาพร้อมพยานหลักฐานไว้ครบถ้วนแล้ว ส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของนายทวีศักดิ์ จำเลยและผู้ที่เกี่ยวข้องให้กรมสามัญศึกษาทราบก็เพื่อให้พิจารณาว่ากรมสามัญศึกษาได้รับความเสียหายจากจำเลยหรือไม่ และประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้องว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ หากกรมสามัญศึกษาไม่ได้รับความเสียหายหรือไม่ประสงค์จะกล่าวหาจำเลย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมไม่มีอำนาจไต่สวนต่อไป แต่เมื่อกรมสามัญศึกษายืนยันว่าได้รับความเสียหายเนื่องจากโรงเรียนแม่จริมไม่ได้ใช้ประโยชน์รถยนต์และมีค่าเสื่อมราคาอันเกิดจากการนำรถยนต์ไปใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2543 และขอร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แสดงว่ากรมสามัญศึกษาประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้องว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ แม้หนังสือร้องทุกข์ของกรมสามัญศึกษาจะระบุเพียงความเสียหายโดยไม่มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ ที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้อยู่แล้ว ทั้งยังเป็นฝ่ายแจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของนายทวีศักดิ์ จำเลย และผู้ที่เกี่ยวข้องให้กรมสามัญศึกษาทราบเอง ย่อมไม่จำเป็นที่กรมสามัญศึกษาจะต้องระบุรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาซ้ำอีก ถือได้ว่ากรมสามัญศึกษายื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และมาตรา 67 ระบุไว้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวน เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดทางอาญาและส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 97 ย่อมถือได้ว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share