แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 มีเจตนารมณ์จะปกป้องราษฎรให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี ดังนั้น การที่โจทก์กับผู้มีสิทธิ ในที่ดินทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่ดิน โดยส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน แม้จะเรียกว่าสัญญาจะซื้อขายและระบุในสัญญาว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญานี้จึงเป็นโมฆะ และถึงแม้ต่อมา จะมีการยกเลิกความในมาตรา 31 มิให้ใช้บังคับกับที่ดินในคดีนี้ ก็ตามก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นทายาทของนายเคน นายเคนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน น.ส.๓ ซึ่งออกตามใบจองลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ให้โจทก์ โดยนายเคนรับเงินจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา นายเคนสัญญาว่าจะจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อขายให้โจทก์ทันทีเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๓๑ และได้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายให้โจทก์เข้าครอบครองทำกินมา ๖ ปีแล้ว เนื่องจากมีพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๑ ทำให้ที่ดินที่ซื้อขายสิ้นสภาพการถูกห้ามโอนกรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์
จำเลยให้การว่า นายเคนขายฝากที่พิพาทไว้กับโจทก์แต่ไม่สามารถจดทะเบียนการขายฝากได้เพราะถูกห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๓๑ จึงได้ทำเป็นสัญญาจะซื้อขายไว้ต่อกัน สัญญานั้นทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมขายฝากจึงเป็นโมฆะ และสัญญาจะซื้อขายนี้ที่หลีกเลี่ยงกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน คู่ความขอให้ศาลชี้ขาดประเด็นเพียงข้อเดียวว่า สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่เป็นข้อแพ้ชนะโดยไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชี้แจ้งโดยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินรายพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๖ ตามใบจองลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ และมีข้อกำหนดห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๓๑ ซึ่งบทบัญญัติของมาตรานี้ เห็นเจตนารมณ์ได้ว่าประสงค์จะปกป้องราษฎรได้สิทธิในที่ดินให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี จะจำหน่ายจ่ายโอนด้วยประการใด ๆ มิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแม้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่มีสิทธินำที่ดินไปเพื่อบังคับชำระหนี้ ดังนั้น การที่โจทก์กับนายเคนผู้มีสิทธิในที่ดิน ทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย แม้จะเรียกว่าสัญญาว่าจะซื้อขายมีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายนี้จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่เดิม โดยมิให้ใช้บังคับกับการได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓ ที่ได้ออกให้ก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก
พิพากษายืน