คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
ศาลชั้นต้นระบุไว้ในคำพิพากษาว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ20.25 ต่อปี แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินประกาศกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมมีความหมายว่า หากมีการเปลี่ยนแแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี โดยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำแถลงของจำเลยว่าอัตราดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคืออัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ และให้คิดดอกเบี้ยในอัตรา 20.25 ต่อปีไปก่อน ถ้าจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไปจนกว่าคำพิพากษาจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขย่อมเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 827,085.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ของเงินต้นจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้โจทก์จนกว่าจะครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาและโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัด
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 827,085.02 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องลดวงเงินจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินประกาศกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2306 ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ของจำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้โจทก์จนกว่าจะครบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 จำเลยที่ 1 นำเงินมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว แต่เจ้าพนักงานศาลแจ้งว่าไม่อาจคำนวณหนี้ตามคำพิพากษาได้ถูกต้อง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยไม่แน่นอน จำเลยที่ 1 จึงไปขอประกาศของโจทก์ที่คิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในช่วงเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากลูกค้าที่ผิดนัดในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลอ่านคำพิพากษาวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคืออัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่ถูกต้องชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป ในชั้นนี้ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ไปก่อน จนกว่าคำพิพากษาจะมีการเปลี่ยนแปลง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ไม่ใช่อัตราร้อยละ 20.25 ต่อปีนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นระบุไว้ในคำพิพากษาว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินประกาศกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ย่อมมีความหมายว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี โดยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศเรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ให้ธนาคารพาณิชย์ออกประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บแต่ละประเภทของตนเองได้ และจำเลยที่ 1 มีประกาศของโจทก์ มาแนบท้ายคำแถลง มีข้อความว่าโจทก์ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดลงเหลือเพียงอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี เพื่อให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งให้ชัดเจนว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร จำเลยที่ 1 จะได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอัตราดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคืออัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ถ้าจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป ในชั้นนี้ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตรา 20.25 ต่อปีไปก่อน จนกว่าคำพิพากษาจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงข้อความในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ว่า “แต่ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินประกาศกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย…” จึงเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 ในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี จนถึงวันชำระเงินตามคำพิพากษาครบถ้วน แต่ถ้าในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยใหม่ โจทก์ต้องคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ประกาศใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share