คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำงานเป็นลูกจ้างประจำรายเดือน ตำแหน่งช่างเครื่องเรือศุลกากร ประจำด่านศุลกากรคลองใหญ่สังกัดกรมศุลกากร มิใช่ข้าราชการที่รับเงินเดือนในงบประมาณประเภทเงินเดือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน แม้จะเป็นพนักงานศุลกากร มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร ก็หาเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่ และทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงาน ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงจะถูกลงโทษฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ลงโทษบุคคลผู้เป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยเฉพาะตามที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษไม่ได้ คงลงโทษได้ตามบทมาตราดังกล่าวแต่ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นจัตวาตำแหน่งพลศุลการักษ์ จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างประจำรายเดือนตำแหน่งช่างเครื่องเรือศุลกากร ๗๖ ประจำด่านศุลกากรคลองใหญ่สังกัดกรมศุลกากร เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตท้องที่จังหวัดตราด ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ภายหลังที่จำเลยทั้งสองได้จับกุมตัวนายบังเอิญ เข็มทองเจ้าของเรือยนต์ ในข้อหาใช้เรือประมงทำการค้าขายชายฝั่งโดยไม่ได้จดทะเบียน เป็นเรือค้าขายชายฝั่งและใช้เรือยนต์โดยมิได้จดทะเบียนต่อกรมเจ้าท่า พร้อมทั้งอายัดเรือกับสินค้ามะพร้าวแห้งจำนวน ๖๐ กระสอบ น้ำหนัก ๗,๘๐๐ กิโลกรัมไว้ อันเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้ว ในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันเรียกร้องเงิน ๑,๒๐๐ บาท จากนายไพศาล วัฒนา เจ้าของสินค้าดังกล่าวโดยเจตนาทุจริตโดยจะไม่ดำเนินคดีกับนายบังเอิญ เข็มทอง และจำเลยที่ ๑ ได้ทำบันทึกแสดงว่าได้ว่ากล่าวเจ้าของเรือยนต์และเจ้าของสินค้า เพื่อให้นายไพศาล วัฒนา เชื่อถือ แล้วได้ปล่อยตัวบุคคลทั้งสองไป อันเป็นการงดเว้นกระทำการในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบครั้นในวันรุ่งขึ้น จำเลยทั้งสองได้รับเงินจำนวน ๖๐๐ บาท จากนายไพศาล วัฒนา ไว้เป็นประโยชน์ตนโดยสุจริต การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการกรมศุลกากร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๘๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙มาตรา ๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๘๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ ให้จำคุกไว้คนละมีกำหนด๕ ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในฟ้อง ยืนตามศาลชั้นต้น แต่สำหรับจำเลยที่ ๒ซึ่งศาลชั้นต้นลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน จึงลงโทษฐานเป็นตัวการตามมาตราดังกล่าวไม่ได้ คงลงโทษได้แต่ในฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๖ พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒มาตรา ๕ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ให้ลงโทษสองในสามของโทษที่กำหนดไว้ โดยจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๓ ปี ๔ เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นพนักงานศุลกากรหรือพนักงานตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๓ แต่ก็หาใช่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษไม่เพราะจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงลูกจ้างประจำรายเดือน มิใช่เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน ทั้งมิได้มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉะนั้น เมื่อได้ความว่าร่วมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายกระทำความผิดก็จะลงโทษจำเลยที่ ๒ อย่างเป็นเจ้าพนักงานเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙เป็นบทบัญญัติลงโทษบุคคลผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยเฉพาะ คดีคงลงโทษจำเลยที่ ๒ ได้แต่ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว พิพากษายืน.

Share