แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในการกำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดในขณะที่คดีฟื้นฟูกิจการอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและเป็นการกำหนดตามที่ศาลได้มีคำสั่งเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบกลั่นกรองในเบื้องต้นและศาลยังได้กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องคัดค้านได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 146 เช่นนี้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ถูกคัดค้านโต้แย้งได้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน หาเป็นที่สุดไม่ แม้ในวันเดียวกันนั้นศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่เมื่อคำสั่งดังกล่าวยังมีผลที่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ทั้งสามหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะพิจารณาคำร้องคัดค้านต่อไปได้
การที่ผู้ทำแผนจะมีฐานะเป็นผู้ทำแผนและมีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามเริ่มตั้งแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/17 ก่อนหน้านั้นหาได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างลูกหนี้ทั้งสามซึ่งมิได้เป็นผู้ร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการกับผู้ทำแผนไม่ เช่นนี้ผู้ทำแผนจะขอเรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนหาได้ไม่ หากว่าหนี้ดังกล่าวจะมีอยู่จริงก็เป็นหนี้ซึ่งลูกหนี้ทั้งสามได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนในฐานะเจ้าหนี้จะต้องดำเนินการขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/26 ประกอบมาตรา 90/27 หาใช่เบิกจ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ในส่วนค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนซึ่งเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้วนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามากำกับและตรวจสอบการกระทำการต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไป ทั้งมีอำนาจในการตั้งผู้ทำแผนและให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งกรณีจึงรวมถึงการอนุญาตหรือมีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย เมื่อเกิดปัญหาประการใดๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คณะกรรมการ เจ้าหนี้ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลได้โดยตรง ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้มีการจ่ายเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนได้
เนื่องจากหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วผู้ทำแผนมีหน้าที่ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการส่งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/43 และผู้ทำแผนมีหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/25 ในการจ่ายค่าตอบแทนผู้ทำแผนเนื่องจากการกระทำหน้าที่ดังกล่าวในส่วนของการทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้นศาลจะพิจารณาให้ผู้ทำแผนมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนได้เป็นจำนวนเท่าใด ศาลต้องพิจารณาถึงผลสำเร็จในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการว่าแผนดังกล่าวที่ผู้ทำแผนได้จัดทำนั้นมีหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนได้จัดทำขึ้นมาแล้วนั้นสามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ อีกทั้งเมื่อมีการนำแผนฟื้นฟูกิจการมาเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลแล้ว แผนฟื้นฟูกิจการนั้นที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนและศาลได้ให้ความเห็นชอบหรือไม่ ทั้งในการพิจารณาดังกล่าวศาลจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ทำแผนสมควรจะใช้เมื่อพิจารณาประกอบคุณภาพของงานและความสำเร็จของงาน อัตราค่าตอบแทนผู้ทำแผนศาลอาจจะกำหนดเป็นหน่วยรายชั่วโมงหรือกำหนดเหมารวมเป็นรายชิ้นงานไปก็ได้ ในส่วนที่ผู้ทำแผนได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามนั้นศาลจะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามในระหว่างที่ผู้ทำแผนเข้ามาจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ผู้ทำแผนได้ทำให้กิจการของลูกหนี้ทั้งสามมีสถานะหรือผลประกอบการดีขึ้นเพียงใด มีรายได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในส่วนค่าใช้จ่ายซึ่งได้แก่ ค่าที่ปรึกษากฎหมายที่ผู้ทำแผนได้จ่ายไป ศาลจะต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นตามปกติในการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ทั้งสามทั้งยังจะต้องพิจารณาว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินส่วนนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามไปดำเนินการเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ทั้งสามโดยแท้จริงหรือไม่ทั้งค่าที่ปรึกษากฎหมายที่จะพิจารณาให้เบิกนั้นก็ย่อมอยู่ในกรอบเฉพาะค่าที่ปรึกษากฎหมายในส่วนที่ผู้ทำแผนได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายเพื่อดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม
คดีนี้ผู้ร้องทั้งสามและลูกหนี้ทั้งสามได้ร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนตามคำสั่งอันเป็นการโต้แย้งกระบวนการในคดีฟื้นฟูการเพื่อให้ศาลมีอำนาจในการกำกับดูแลคดีฟื้นฟูกิจการได้ควบคุมกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม กรณีถือได้ว่าเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้ 200 บาท
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ทั้งสามและตั้งบริษัทเซ้าท์ สาธร แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2542 ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2542 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ทำแผนเบิกจ่ายค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในอัตราร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือจะพิจารณาสั่งภายหลังมีการประชุมเจ้าหนี้แล้ว และวันที่ 22 ตุลาคม 2542 ศาลล้มละลายกลางซึ่งรับโอนสำนวนจากศาลแพ่งมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้ทำแผน และบุคคลผู้ได้รับความเสียหายให้ใช้สิทธิคัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2542 ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ทั้งสาม และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งกำหนดและจ่ายค่าทำแผนส่วนที่เหลือตามคำสั่งศาลให้แก่ผู้ทำแผนเป็นค่าตอบแทนจำนวน 60,973,150.25 บาท และค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 17,865,558.56 บาท รวมเป็นเงิน 78,838,708.81 บาท
ผู้ร้องทั้งสามและลูกหนี้ทั้งสามยื่นคำร้องในทำนองเดียวกันว่า คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในส่วนที่กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้ทำแผนเป็นเงิน 78,838,708.81 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้ดุลพินิจอย่างไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม ทำให้ลูกหนี้ทั้งสามและผู้ร้องทั้งสามในฐานะเจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ผู้ทำแผนคืนเงินค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายจำนวน 78,838,708.81 บาท ให้แก่ลูกหนี้ทั้งสาม และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนลูกหนี้ทั้งสามด้วย
ผู้ทำแผนยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นกำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผน คงเหลืออัตราร้อยละ 45 ของจำนวนเงินที่ผู้ทำแผนร้องขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ทำแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/79 (เดิม)
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2542 ว่า ค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการอันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลจะมีคำสั่งให้หักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายดังกล่าว ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2542 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนเป็นเงินรวม 78,838,708.81 บาท และผู้ทำแผนได้เบิกเงินดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามไปแล้ว และในวันเดียวกันนั้นศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ทั้งสาม กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ทั้งสามแล้ว ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการโต้แย้งในการกำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนต่อไปอีกหรือไม่ เห็นว่า ในการกำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดในขณะที่คดีฟื้นฟูกิจการอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และเป็นการกำหนดตามที่ศาลได้มีคำสั่งเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบกลั่นกรองในเบื้องต้นและศาลยังได้กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องคัดค้านได้ตามมาตรา 146 เช่นนี้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ถูกคัดค้านโต้แย้งได้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน หาเป็นที่สุดไม่ แม้ในวันเดียวกันนั้นศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่เมื่อคำสั่งดังกล่าวยังมีผลกระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ทั้งสามหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ศาลจึงมีอำนาจในการพิจารณาคำร้องคัดค้านต่อไปได้อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ทำแผนฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ทำแผนมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ทั้งสามรับผิดในค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายเพียงใด ปัญหาเกียวกับค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนนั้น เห็นว่า การที่ผู้ทำแผนจะมีฐานะเป็นผู้ทำแผนและมีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามเริ่มตั้งแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17 ก่อนหน้านั้นหาได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างลูกหนี้ทั้งสามซึ่งมิได้เป็นผู้ร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการกับผู้ทำแผนไม่ เช่นนี้ ผู้ทำแผนจะขอเรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนหาได้ไม่ หากว่าหนี้ดังกล่าวจะมีอยู่จริงก็เป็นหนี้ซึ่งลูกหนี้ทั้งสามได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนในฐานะเจ้าหนี้จะต้องดำเนินการขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 ประกอบมาตรา 90/27 หาใช่เบิกจ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ในส่วนค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนซึ่งเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้วนั้น เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามากำกับและตรวจสอบการกระทำการต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไป ทั้งมีอำนาจในการตั้งผู้ทำแผนและให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งกรณีจึงรวมถึงการอนุญาตหรือมีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย เมื่อเกิดปัญหาประการใดๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คณะกรรมการเจ้าหนี้หรือที่ประชุมเจ้าหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลได้โดยตรง ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้มีการจ่ายเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนได้ ในการพิจารณาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนนั้นเนื่องจากหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วผู้ทำแผนมีหน้าที่ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการส่งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/43 และผู้ทำแผนมีหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/25 ในการจ่ายค่าตอบแทนผู้ทำแผนเนื่องจากการกระทำหน้าที่ดังกล่าวในส่วนของการทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้นศาลจะพิจารณาให้ผู้ทำแผนมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนได้เป็นจำนวนเท่าใด ศาลต้องพิจารณาถึงผลสำเร็จในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการว่าแผนดังกล่าวที่ผู้ทำแผนได้จัดทำนั้นมีหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนได้จัดทำขึ้นมาแล้วนั้นสามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ อีกทั้งเมื่อมีการนำแผนฟื้นฟูกิจการมาเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลแล้ว แผนฟื้นฟูกิจการนั้นที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนและศาลได้ให้ความเห็นชอบหรือไม่ ทั้งในการพิจารณาดังกล่าวศาลจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ทำแผนสมควรจะใช้เมื่อพิจารณาประกอบคุณภาพของงานและความสำเร็จของงาน อัตราค่าตอบแทนผู้ทำแผนศาลอาจจะกำหนดเป็นหน่วยรายชั่วโมงหรือกำหนดเหมารวมเป็นรายชิ้นงานไปก็ได้ ในส่วนที่ผู้ทำแผนได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามนั้นศาลจะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามซึ่งลูกหนี้ทั้งสามได้ประกอบกิจการอ้อยและน้ำตาลในระหว่างที่ผู้ทำแผนเข้ามาจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ผู้ทำแผนได้ทำให้กิจการของลูกหนี้ทั้งสามมีสถานะหรือผลประกอบการดีขึ้นเพียงใด มีรายได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ได้ความจากลูกหนี้ทั้งสามว่า การบริหารกิจการของลูกหนี้ทั้งสามโดยผู้ทำแผนนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้ทั้งสาม ในส่วนการทำแผนนั้นก็ได้ความว่าแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนได้จัดทำไม่สามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ทั้งสามได้แต่อย่างใดเพราะที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ยอมรับแผนในส่วนค่าใช้จ่ายซึ่งได้แก่ค่าที่ปรึกษากฎหมายที่ผู้ทำแผนได้จ่ายไป ศาลจะต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นตามปกติในการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ทั้งสาม ทั้งยังจะต้องพิจารณาว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินส่วนนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามไปดำเนินการเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ทั้งสามโดยแท้จริงหรือไม่ ทั้งค่าที่ปรึกษากฎหมายที่จะพิจารณาให้เบิกนั้นก็ย่อมอยู่ในกรอบเฉพาะค่าที่ปรึกษากฎหมายในส่วนที่ผู้ทำแผนได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายเพื่อดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามเมื่อได้พิจารณาถึงความไม่สำเร็จในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับผลงานในการบริหารกิจการของลูกหนี้ทั้งสามในระหว่างที่ผู้ทำแผนเป็นผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามอยู่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนในอัตราร้อยละ 45 ของจำนวนเงินค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนที่ผู้ทำแผนขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สำหรับผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ทำแผนภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว นับว่าเป็นจำนวนที่สูงและเป็นคุณแก่ผู้ทำแผนมากแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล้มละลายกลาง อุทธรณ์ของผู้ทำแผนข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องทั้งสามและลูกหนี้ทั้งสามได้ร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนตามคำสั่งอันเป็นการโต้แย้งกระบวนการในคดีฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ศาลซึ่งมีอำนาจในการกำกับดูแลคดีฟื้นฟูกิจการได้ควบคุมกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม กรณีถือได้ว่าเป็นคำขอให้ปลดเลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ในชั้นอุทธรณ์ผู้ทำแผนอุทธรณ์ขอให้พิพากษากลับเป็นยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามและลูกหนี้ทั้งสามจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ศาลล้มละลายกลางเรียกเก็บมาจำนวน 200,000 บาท จึงให้คืนเงินค่าขึ้นศาลที่เกินจำนวน 199,800 บาท แก่ผู้ทำแผน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นนี้ส่วนที่เกินมา 199,800 บาท แก่ผู้ทำแผน