คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกู้เงินโจทก์และในสัญญากู้มีข้อความด้วยว่า จำเลยได้นำโคมาจำนำไว้ เมื่อทำสัญญากู้เงินกันแล้ว โจทก์ได้ยินยอมมอบโคกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลย แม้จำเลยจะเคยนำกลับไปให้โจทก์บ้างเป็นครั้งคราว แต่ผลที่สุดโจทก์ก็ยินยอมมอบคืนแก่จำเลยอีก เช่นนี้ ย่อมถือว่าจำเลยหาได้มอบโคไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในลักษณะจำนำตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 349 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ ๑, ๒๑๐ บาท โดยมอบโค ๒ ตัว กับตั๋วพิมพ์รูปพรรณให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาโจทก์ได้มอบโคที่จำนำกันนี้ให้จำเลยเป็นผู้รักษาผลประโยชน์รายได้ของจำเลยเอง แล้วจำเลยได้บังอาจพาเอาโคซึ่งจำนำไว้กับโจทก์ไปโอนใช้หนี้แต่นายสิงห์โดยเจตนาจะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้หรือใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๙, ๓๕๐, ๘๖
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยยังไม่เป็นผิดทางอาญา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ปัญหาข้อกฎหมายที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา นั้นเกี่ยวกับการแปลการกระทำของคู่กรณีและสัญญาว่าจะเป็นจำนำอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. ๓๔๙ ได้หรือไม่
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังต้องกันมาว่า เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๙๙ จำเลยได้ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์ ในสัญญากู้ลงข้อความไว้ด้วยว่า ได้นำหลักทรัพย์คือวัว ๑ คู่ล้อ ๑ เล่ม เอามาจำนำไว้ แต่เมื่อทำสัญญากันแล้ว จำเลยได้ขอร้องโจทก์ขอเอาโคและเกวียนไปลากไม้เสร็จแล้วนำมาคืน โจทก์ก็ให้ไปปฏิบัติกันเช่นนี้ ๓ ครั้ง ๆ สุดท้ายไม่ส่งคืน โจทก์ให้บุตรไปทวงถามจึงทราบจากจำเลยว่าจำเลยเป็นหนี้นางสิงห์ ๆ มาแย่งเอาโคไป ่จำเลยรับจะไปเอาคืนและได้ขอคืนจากนายสิงห์หลายครั้ง แต่นายสิงห์ไม่ให้
ศาลฎีกาพิจารณา แล้วเห็นว่าเมื่อทำสัญญากู้เงินกันแล้ว โจทก์ได้ยินยอมมอบโคทั้ง ๒ ตัว กลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลย แม้จำเลยจะเคยนำกลับไปให้โจทก์บ้างเป็นครั้งคราว แต่ผลที่สุดโจทก์ยินยอมมอบกลับคืนแก่จำเลยโดยมิได้กังวลติดตามทวงถาม การกู้เงินรายนี้และตามสัญญาดังกล่าวข้างต้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยหาได้มอบโคทั้ง ๒ ตัว ไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามกฎหมายในลักษณะจำนำแต่ประการใด
ประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๔๙ ที่โจทก์อ้าง ต้องสืบเนื่องมาจากเรื่องจำนำโค ๒ ตัวในคดีนี้ เมื่อไม่มีการจำนำโคแก่กัน จึงขาดองค์ความผิดข้อสำคัญ จำเลยยังไม่มีความผิดตามฟ้อง
ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share