คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 49/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าสัญญารายพิพาทเป็นนิติกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อนแล้วแต่ใจลูกหนี้ฝ่ายเดียวหรืออย่างไรนั้นไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
การที่ไม่มีนุ่นตามตัวอย่างที่ตกลงกัน เพราะโรงงานที่จำเลยตกลงจะซื้อนุ่นเพื่อขายให้โจทก์ต้องเลิกล้มไป เช่นนี้ ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิด เพราะปรากฏว่าขณะทำสัญญาซื้อขายนุ่นกันนี้ มีโรงงานทำนุ่นหลายแห่งที่จำเลยสามารถหาซื้อนุ่นได้

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายนุ่นไทยจำนวน 5 ตันศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 3,190 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายดังนี้

ฎีกาข้อที่ว่า สัญญารายพิพาทเป็นนิติกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อนแล้วแต่ใจลูกหนี้ฝ่ายเดียวหรืออย่างไรนั้น จำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นว่าไว้ในศาลชั้นต้น และไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

ฎีกาข้อที่ว่า การที่ไม่มีนุ่นตามตัวอย่างที่ตกลงกันเพราะโรงงานที่จำเลยตกลงจะซื้อเพื่อขายให้โจทก์ต้องเลิกล้มไป ถือเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะพึงกระทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาซื้อขายนั้นได้ เพราะปรากฏว่า ขณะทำสัญญาซื้อขายนุ่นกันนี้ในกรุงเทพฯ มีโรงงานทำนุ่นอยู่หลายแห่งที่จำเลยสามารถหาซื้อได้ มิใช่มีอยู่แต่เพียงแห่งเดียว เฉพาะที่โรงงานทำนุ่นที่จำเลยจะตกลงซื้อ การที่จำเลยจะตกลงซื้อนุ่นจากโรงงานทำนุ่นแห่งใดเป็นเรื่องของจำเลยเองโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับโจทก์และโจทก์ไม่อาจจะทักท้วงได้

Share