คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3158/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่การฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง” ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 223/2555 ต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ในคดีนี้อีก แม้โจทก์จะอาศัยมูลหนี้ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินคนละสถาบันและคนละมูลหนี้ในการฟ้องแต่ละคดีก็ตาม แต่ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกัน สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 223/2555 อยู่ในระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีอื่น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2538 และวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงิน และสัญญาขายลดตั๋วเงินกับบริษัทเงินทุนทรัพย์ธำรง จำกัด เจ้าหนี้เดิม จำนวน 40,000,000 บาท และในวงเงิน 10,000,000 บาท ตามลำดับโดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญากู้เงินสัญญาขายลดตั๋วเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน บันทึกการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน และหนังสือสัญญาค้ำประกัน ต่อมาเจ้าหนี้เดิมถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและถูกควบคุมกิจการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน จากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้ประมูลขายสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ปรากฏว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินเป็นผู้ประมูลซื้อได้ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2543 จำเลยทั้งสี่กับพวกทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน หลังจากนั้นคู่สัญญาทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกันอีก 10 ครั้ง ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2548 บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินโอนขายสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์ ตามสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 จำเลยทั้งสี่กับพวกทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 มีว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่การฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไปแต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย อีกทั้งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง” ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 223/2555 ต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 ในคดีนี้อีก แม้โจทก์จะอาศัยมูลหนี้ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินคนละสถาบันและคนละมูลหนี้ในการฟ้องแต่ละคดีก็ตาม แต่ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกัน สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 223/2555 อยู่ในระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 4 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ในข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ในข้ออื่นอีกเนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และโจทก์มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่า หลังจากบริษัทเงินทุนทรัพย์ธำรง จำกัด เจ้าหนี้เดิม กับบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่นถูกสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ และถูกควบคุมกิจการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินและบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินได้ประมูลซื้อสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องมาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแล้ว จำเลยที่ 1 กับพวกซึ่งเรียกชื่อว่ากลุ่มบริษัทบางนาการ์เด้นพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 กับพวกตกลงร่วมกันรับผิดในหนี้ที่ค้างชำระ ณ วันปิดบัญชีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นเงิน 1,840,590,006.18 บาท ตกลงชำระหนี้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินและสิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟชำระหนี้กับผ่อนชำระหนี้ส่วนที่เหลือ 106,000,000 บาท สำหรับที่ดินและสิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกตีโอนชำระหนี้ไปแล้วนั้น เมื่อพิจารณาตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ปรากฏว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 4.1 และข้อ 4.2 เท่านั้น ส่วนหนี้ตามสัญญาข้อ 4.3 ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกชำระหนี้ดังกล่าวแต่อย่างใด โดยจำเลยทั้งสี่ไม่มีหลักฐานการชำระหนี้มาแสดงประกอบกับจำเลยทั้งสี่กับพวกยังได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินและโจทก์เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้ดังกล่าวมาโดยตลอดตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 11 ส่วนที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกได้ปฏิบัติตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เรียบร้อยแล้วและเจ้าหนี้ได้เวนคืนตั๋วแลกเงินให้แก่จำเลยทั้งสี่กับพวกโดยมีการประทับตรายกเลิกตั๋วแลกเงินนั้น ในข้อนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ข้อ 4.3.3 ระบุว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 4.3.1 และ 4.3.2 เรียบร้อยแล้ว บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินจะคืนตั๋วแลกเงินเลขที่ 001/2540 ฉบับลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 ให้แก่จำเลยทั้งสี่กับพวกเท่านั้น โดยไม่รวมถึงหนี้ตามสัญญาข้อ 4.3 หากมีการชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครบถ้วนแล้วจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยทั้งสี่กับพวกทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินและโจทก์สืบเนื่องต่อกันมาโดยตลอดจนถึงครั้งที่ 11 แม้ตามสัญญาดังกล่าวจะมีการขีดฆ่าแก้ไขครั้งที่ 10 เป็นครั้งที่ 11 เชื่อว่าเป็นการขีดฆ่าและเขียนใหม่แทนให้ถูกต้องตามความเป็นจริงหาเป็นพิรุธสงสัยดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างไม่ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 กับพวกถูกหลอกลวงฉ้อฉลให้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้น ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินหรือพนักงานโจทก์คนใดหลอกลวงฉ้อฉลด้วยวิธีการใดให้จำเลยที่ 1 กับพวกหลงเชื่อเข้าทำสัญญาดังกล่าว ทั้งที่ตามสัญญามีมูลหนี้และทรัพย์สินที่จะต้องตีโอนชำระหนี้กับมีผู้เกี่ยวข้องในการทำสัญญาจำนวนมาก ประกอบกับหลังจากทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำเลยที่ 1 กับพวกก็ได้ตีโอนทรัพย์สินชำระหนี้และทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาโดยตลอด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้นเมื่อปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 กับพวกทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ชำระหนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาดังกล่าว อันเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาทและหนี้ยังไม่ขาดอายุความโจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อสุดท้ายมีว่าคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ถ้าจำเลยทั้งสี่ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายหรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทหรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท คำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) นั้น เห็นว่า สำหรับที่ดินจำนองตามโฉนดที่ดินเลขที่ 43993, 43994 และ 46520 ตำบลบางเสาธง (เสาธง) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ผู้จำนองได้ตีโอนชำระหนี้ให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินไปแล้ว การจำนองย่อมระงับไป ที่ดินดังกล่าวมิได้เป็นหลักประกันอีกต่อไป ส่วนที่ดินจำนองตามสำเนาโฉนดที่ดิน ก็ปรากฏว่าเป็นที่ดินของบุคคลอื่นมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดโจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 มานั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นนี้และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง

Share