คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15217/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่ 8 ตัวอักษร คือ “C, I, T, R, ?, N, G และ E” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วประกอบด้วยตัวอักษรโรมันเพียง 6 ตัวอักษร คือ “C, I, T, R, O และ N” ดังนั้นเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์มีตัวอักษรที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว 6 ตัวอักษร คือตัวอักษร “C. I, T, R, O และ N” แต่มีอักษรมากกว่า 2 ตัวอักษรคือ ตัวอักษร “G” และ “E” ซึ่งเป็นอักษร 2 ตัวสุดท้าย นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์มีเพียงภาคส่วนสำคัญอยู่ที่ตัวอักษรโรมัน 8 ตัวอักษร เท่านั้น ไม่มีภาคส่วนอื่นที่เป็นรูปรอยประดิษฐ์อื่นประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นมีภาคส่วนอื่นประกอบคำว่า “CITRON” ด้วยคือส่วนที่เป็นอักษรโรมันประดิษฐ์ตัว “N” อยู่ในวงกลมเหนือคำว่า “CITRON” ซึ่งทั้งอักษรโรมันและคำว่า “CITRON” ต่างก็อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายใบประกาศหรือฉลากที่มีคำบรรยายเป็นอักษรโรมัน ตัวเลขอารบิก และรูปผลไม้คล้ายส้มผ่าซีกอยู่ด้านล่างของกรอบสี่เหลี่ยมดังกล่าว นอกจากนี้ที่สำคัญคือเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวยังมีอักษรโรมันคำว่า “Nemiroff” อ่านออกเสียงได้ว่า “เนมิรอฟฟ์” ขนาดค่อนข้างใหญ่วางเรียงกันอยู่ใต้คำว่า “CITRON” ในลักษณะขนานกับด้านข้างของกรอบรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าว คำดังกล่าว จึงนับได้ว่าเป็นภาคส่วนสำคัญเนื่องจากมีลักษณะเด่นคือตัวอักษรใหญ่และหนากว่าคำว่า “CITRON” จึงนับเป็นภาคส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้า ก็มีอักษรโรมันประดิษฐ์ตัว “N” อยู่ภายในกรอบวงกลมประดิษฐ์ และมีอักษรโรมันคำว่า “Nemiroff” เป็นภาคส่วนสำคัญอยู่ด้วยเช่นกัน โดยคำดังกล่าววางอยู่ที่ฐานด้านล่างของรูปคล้ายขวดแก้วและมีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าคำว่า “Citron” ซึ่งอยู่บริเวณด้านบนที่เป็นรูปคล้ายฝาขวด ทั้งยังมีภาพผลไม้คล้ายส้มผ่าซีกอยู่ด้านล่างของขวดแก้วด้วย เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วทั้งสองเครื่องหมายจึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์ นอกจากนี้ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว ยังมีข้อจำกัดกำหนดไว้ว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วนั้นไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำบรรยายทั้งหมด ตัวเลขทั้งหมด ยกเว้นรูปอักษร “N” ในลวดลาย และคำว่า”NEMIROFF” เท่านั้น ซึ่งเท่ากับปฏิเสธที่จะไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในคำว่า “CITRON” และ “Citron” ด้วย ดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจะออกเสียงเรียกขานได้ว่า “ซิทรอนจ์” และเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 33 รายการสินค้า เหล้าประเภทต่าง ๆ เหมือนกัน และสาธารณชนผู้บริโภคสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วเป็นกลุ่มเดียวกันคือผู้นิยมดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประเภทต่าง ๆ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้า และ ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนทั่วไปอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าเป็นของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/2512 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2553 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 276/2555 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวและพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 733629 ของโจทก์เป็นเครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้ และให้จำเลยดำเนินการเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 733689 เป็นเครื่องหมายการค้าพึงรับจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือที่ พณ 0704/2512 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2553 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 276/2555 ให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 733629 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสมาพันธรัฐสวิส ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้รับการจดทะเบียนในหลายประเทศ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 33 รายการสินค้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ยกเว้นเบียร์) เหล้า สินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า ประกอบอยู่ด้วยมีจำหน่ายในประเทศไทยตามสำเนาใบแจ้งหนี้และสำเนาเอกสารการเข้าเป็นหุ้นส่วนร้านค้าปลอดภาษี มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์และเว็บไซต์ชื่อ “www.patronspiritis.com ” ของโจทก์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2552 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 33 รายการสินค้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ยกเว้นเบียร์) เหล้า ตามคำขอเลขที่ 733629 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขรายการสินค้าเนื่องจากรายการสินค้าไม่ชัดแจ้งตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งโดยระบุรายการสินค้าใหม่เป็นสุรากลั่น บรั่นดี วิสกี้ ยิน รัม สุราค็อกเทล เครื่องดื่มที่มีสุราผสม วอดก้า แชมเปญ สุราใช้ดื่มก่อนอาหาร แอลกอฮอล์สกัดจากผลไม้ เหล้าองุ่นขาว เหล้าบิตเตอร์ แอลกอฮอล์สกัด และเหล้า ตามคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คือเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 682720 ทะเบียนเลขที่ ค301140 ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 และเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 706571 ทะเบียนเลขที่ ค306680 ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2551 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 33 รายการสินค้า สุรา เหล้า เหล้าวอดก้า สุราขม จึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ต่อมาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยที่ 276/2555 ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค301140 และเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค306680 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้า จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ส่วนหลักฐานที่โจทก์นำส่ง ซึ่งเป็นสำเนาใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษีแสดงการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยเมื่อปี 2553 จำนวน 2 แผ่น สำเนาเอกสารทางเว็บไซต์แสดงการโฆษณาสินค้าของโจทก์ที่ขายในร้านที่กรุงเทพมหานครจำนวน 3 แผ่น เป็นต้นนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้มาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายแล้วในประเทศไทย จึงมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 733629 ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า และ ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค301140 และทะเบียนเลขที่ ค306680 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอื่นนั้นหาใช่พิจารณาเฉพาะคำหรือข้อความที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาหรือเสียงเรียกขานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาถึงภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งประกอบกันเป็นองค์ประกอบรวมของเครื่องหมายทั้งสองด้วยว่ามีความคล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกันในภาคส่วนใดบ้าง อาทิ ต้องพิจารณาถึงรายการสินค้าว่าเป็นจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเชื่อมโยงถึงกันได้หรือไม่ อย่างไร อีกทั้งสาธารณชนผู้ใช้หรือบริโภคสินค้าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ โดยต้องคำนึงถึงเจตนาของผู้ใช้หรือผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันด้วยว่าต้องการแสวงหาประโยชน์จากความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นหรือไม่ด้วย โดยเฉพาะข้อสำคัญของการพิจารณาเรื่องความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้านั้นคือระดับของความเหมือนหรือคล้ายกันนั้นถึงขนาดที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 733629 ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ……และ ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค301140 และเลขที่ ค306680 นั้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่ 8 ตัวอักษร คือ “C, I, T, R, ?, N, G และ E” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วประกอบด้วยตัวอักษรโรมันเพียง 6 ตัวอักษร คือ “C, I, T, R, O และ N” ดังนั้นเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์มีตัวอักษรที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว 6 ตัวอักษร คือตัวอักษร “C. I, T, R, O และ N” แต่มีอักษรมากกว่า 2 ตัวอักษรคือ ตัวอักษร “G” และ “E” ซึ่งเป็นอักษร 2 ตัวสุดท้าย นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์มีเพียงภาคส่วนสำคัญอยู่ที่ตัวอักษรโรมัน 8 ตัวอักษร เท่านั้น ไม่มีภาคส่วนอื่นที่เป็นรูปรอยประดิษฐ์อื่นประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นตามทะเบียนเลขที่ ค301140 มีภาคส่วนอื่นประกอบคำว่า “CITRON” ด้วยคือส่วนที่เป็นอักษรโรมันประดิษฐ์ตัว “N” อยู่ในวงกลมเหนือคำว่า “CITRON” ซึ่งทั้งอักษรโรมันและคำว่า “CITRON” ต่างก็อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายใบประกาศหรือฉลากที่มีคำบรรยายเป็นอักษรโรมัน ตัวเลขอารบิก และรูปผลไม้คล้ายส้มผ่าซีกอยู่ด้านล่างของกรอบสี่เหลี่ยมดังกล่าว นอกจากนี้ที่สำคัญคือเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวยังมีอักษรโรมันคำว่า “Nemiroff” อ่านออกเสียงได้ว่า “เนมิรอฟฟ์” ขนาดค่อนข้างใหญ่วางเรียงกันอยู่ใต้คำว่า “CITRON” ในลักษณะขนานกับด้านข้างของกรอบรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าว คำดังกล่าวจึงนับได้ว่าเป็นภาคส่วนสำคัญเนื่องจากมีลักษณะเด่นคือตัวอักษรใหญ่และหนากว่าคำว่า “CITRON” จึงนับเป็นภาคส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ส่วนเครื่องหมายการค้า ตามทะเบียนเลขที่ ค306680 ก็มีอักษรโรมันประดิษฐ์ตัว “N” อยู่ภายในกรอบวงกลมประดิษฐ์ และมีอักษรโรมันคำว่า “Nemiroff” เป็นภาคส่วนสำคัญอยู่ด้วยเช่นกัน โดยคำดังกล่าววางอยู่ที่ฐานด้านล่างของรูปคล้ายขวดแก้วและมีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าคำว่า “Citron” ซึ่งอยู่บริเวณด้านบนที่เป็นรูปคล้ายฝาขวด ทั้งยังมีภาพผลไม้คล้ายส้มผ่าซีกอยู่ด้านล่างของขวดแก้วด้วย เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วทั้งสองเครื่องหมายจึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์ นอกจากนี้ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วตามเอกสารหมาย ล.13 และ ล.14 ยังมีข้อจำกัดกำหนดไว้ว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วนั้นไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำบรรยายทั้งหมด ตัวเลขทั้งหมด ยกเว้นรูปอักษร “N” ในลวดลาย และคำว่า”NEMIROFF” เท่านั้น ซึ่งเท่ากับปฏิเสธที่จะไม่ขอถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในคำว่า “CITRON” และ “Citron” ด้วย ดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจะออกเสียงเรียกขานได้ว่า “ซิทรอนจ์” และเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 33 รายการสินค้า เหล้าประเภทต่าง ๆ เหมือนกัน และสาธารณชนผู้บริโภคสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วเป็นกลุ่มเดียวกันคือผู้นิยมดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประเภทต่าง ๆ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้า และ ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันดังวินิจฉัยไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนทั่วไปอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าเป็นของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาไม่สุจริตในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยโจทก์นำสืบว่า ประกอบกิจการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า มาเป็นเวลา 20 กว่าปี และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ในหลายประเทศตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่บุคคลอื่นจะจดทะเบียนคำว่า “CITRON” เมื่อปี 2551 ทั้งบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “CITRON” ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วทั้งสองเครื่องหมายก็ไม่ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย กรณีรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “CITRON” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าคำว่า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 733629 ของโจทก์จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนที่ พณ 0704/2512 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 276/2555 และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า ตามคำขอเลขที่ 733689 ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้นั้น ปรากฏว่าหมายเลขคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ถูกต้องตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องนั้นเป็นหมายเลข 733629 จึงเห็นได้ชัดเจนว่าหมายเลขคำขอจดทะเบียนในคำพิพากษาดังกล่าว เจ้าพนักงานศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิมพ์หมายเลขคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ผิดพลาดไป เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 733629 เป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 733629 ต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share