คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว คำว่า “ค่าอากร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีฝ่ายสรรพากรด้วยศาลอุทธรณ์นำภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมเป็นค่าอากรเพื่อคำนวณโทษปรับจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ที่จับกุมร้อยละสิบห้าของค่าปรับแต่คดีนี้เป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งริบของกลางและไม่ปรากฏว่าของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้จึงต้องจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางตาม พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509มาตรา 4, 19, 24, 44, 49, 50 พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 6, 7, 8ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 4, 19, 24, 44, 49, 50เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในความครอบครองปรับ 6,600 บาท ฐานจำหน่ายยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบปรับ 22,646.10 บาท รวมปรับ 29,246.10 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงปรับจำเลย 14,623.05 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละ 15 ของเงินค่าปรับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 1 ปี ปรับ 8,926.88 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 4,463.44 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาโดยกำหนดโทษปรับจากราคาของรวมค่าภาษีอากรทั้งหมด จำนวน2,231.72 บาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วนั้นคำว่า “ค่าอากร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้นหาได้หมายความรวมถึงภาษีสรรพสามิตภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีฝ่ายสรรพากรด้วยไม่ การที่ศาลอุทธรณ์นำภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นค่าอากรเพื่อคำนวณโทษปรับจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่งคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้โทษจำคุกด้วย แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี เป็นการเพิ่มเติมโทษจำคุกไว้ 2 ปี เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยให้หนักขึ้นโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละสิบห้าของค่าปรับนั้น เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งริบของกลาง และไม่ปรากฏว่าของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้จึงต้องจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของราคาของกลางตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 8 วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,745.32 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 1,877.16 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุกและให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบของราคาของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share