คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดย อ้างว่าได้ดำเนินการโดย ฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง นั้นหากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขาย ย่อมมีผลทำให้เสมือนไม่มีการขายแม้จะมีการโอนทรัพย์ให้ผู้ซื้อไปแล้ว ก็จะต้องเพิกถอนการโอนนั้นหรือหากผู้ซื้อได้โอนให้แก่บุคคลอื่นก่อนแล้วไม่ว่าจะโอนไปกี่ทอดและไม่ว่าผู้รับโอนจะสุจริตหรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ก็จะต้องเพิกถอนการโอนหมดเพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน แต่ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนการขาย ตราบนั้นก็ยังต้องถือว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยชอบ ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิรับโอนทรัพย์นั้นมาและโอนต่อ ๆ ไปได้ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินอ้างว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยมิชอบศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องเป็นคดีใหม่ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ดังนั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดย่อมมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาล และมีสิทธิโอนต่อให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิรับโอนย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9085 โจทก์ได้นำไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงเทพฯพณิชย์การ จำกัด ต่อมาธนาคารกรุงเทพฯพณิชย์การ จำกัด ฟ้องโจทก์และบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวมาขายทอดตลาด โดย ส่งหมายด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าโจทก์มีภูมิลำเนาแน่นอน ต่อมาเมื่อวันที่ 1กันยายน 2528 ศาลได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์เพิ่งทราบว่าถูกฟ้องบังคับจำนองเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 จึงได้ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวขอเพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2530 ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ จำเลยทั้งสองทราบดีว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยมิชอบ จำเลยที่ 1 ขอซื้อมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีในราคาเพียง 290,000 บาท โดย ไม่มีการประมูลสู้ราคากัน จำเลยทั้งสองทราบดีว่าที่ดินมีราคาจริงไม่น้อยกว่าไร่ละ 80,000 บาท และทราบดีว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด วันที่ 11 ธันวาคม 2530 จำเลยที่ 1 ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามหนังสือของศาลลงวันที่ 14 กันยายน 2530 แล้วได้จดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 ในราคา 290,000 บาทในวันเดียวกันซึ่งเป็นการกระทำโดย ไม่สุจริต ไม่ได้ซื้อขายกันจริง เป็นการฉ้อฉลโจทก์ให้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์จากโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 และการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนการโอนให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในคดีที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดย อ้างว่าได้ดำเนินการโดย ฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296วรรคสอง นั้น หากศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยมิชอบก็จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายซึ่งมีผลทำให้เสมือนไม่มีการขาย แม้จะมีการโอนทรัพย์ให้ผู้ซื้อไปแล้วก็จะต้องเพิกถอนการโอนนั้น หรือหากผู้ซื้อได้โอนให้แก่บุคคลอื่นก่อนแล้วไม่ว่าจะโอนไปกี่ทอดและไม่ว่าผู้รับโอนจะสุจริตหรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ก็จะต้องเพิกถอนการโอนหมดเพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนการขาย ตราบนั้นก็ยังต้องถือว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยชอบผู้ซื้อย่อมมีสิทธิรับโอนทรัพย์มาได้ และมีสิทธิโอนต่อ ๆ ไปได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องในคดีหมายเลขแดงที่ 265/2528 ของศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้อ้างว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยมิชอบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ก็มาฟ้องเป็นคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลยังไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดย่อมมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาลและมีสิทธิโอนต่อให้แก่จำเลยที่ 2 ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิรับโอนก็ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างไร และจำเลยที่ 1 ก็ยังมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ในการที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แต่เห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share