คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4896/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า มูลคดีเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) หมายถึงเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1เช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกัน มิได้ฟ้องแต่เพียงให้ผู้สั่งจ่ายรับผิดชำระเงินตามเช็คเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้องจึงเกิดขึ้นในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังโจทก์มอบอำนาจให้นายวิศิษฏ์ เธียรวงศ์เสถียร ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 26กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 นำเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน)สาขาลาดพร้าว ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2537 จำนวนเงิน 1,000,000 บาทมาขายลดให้แก่โจทก์โดยตกลงว่าหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คหรือมีกรณีอื่นใดทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระเงินตามเช็ค ยอมชดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ลงในเช็ค โดยจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว เมื่อถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,684.93 บาท มูลคดีนี้เกิดขึ้นที่สำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น(ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,100,684.93บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ในต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการโจทก์ผู้มีอำนาจ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์จริงแต่ได้ชำระหนี้หมดแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเช็คตามฟ้องไปขายลดกับโจทก์ พนักงานของโจทก์สมคบกับบุคคลภายนอกปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริง แต่พ้นกำหนดระยะเวลาการค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี เพราะขณะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 100,684.93 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นฟังได้ยุติว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน และได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการเงินทุน โจทก์โดยนายคียิน แซ่วู และนายสุรพล กุลศิริกรรมการผู้มีอำนาจได้มอบอำนาจให้นายวิศิษฏ์ เธียรวงศ์เสถียร ดำเนินคดีแทนเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์โดยตกลงว่าจะนำเช็คมาขายลดเป็นคราว ๆ ไป หากเช็คที่นำมาขายถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี หรืออัตราใหม่ที่โจทก์มีสิทธิปรับได้ จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตลอดไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จนสิ้นเชิง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 นำเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว ลงวันที่ 26ตุลาคม 2537 จำนวนเงิน 1,000,000 บาท มาขายลดให้แก่โจทก์แต่เมื่อเช็คที่นำมาขายลดดังกล่าวถึงกำหนดปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) เพราะมูลคดีเกิดที่ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค และอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งนั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ก็ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) บัญญัติว่าคำฟ้องให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) จำเลยที่ 1ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ โดยหาได้ฟ้องแต่เพียงให้ผู้สั่งจ่ายรับผิดชำระเงินตามเช็คเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้องจึงเกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share