แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่เจ้าของร่วมสองคนในโฉนดได้แยกกันครอบครองที่ดินตามทิศทาง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งได้ครอบครองเนื้อที่มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ต้องถือว่าต่างมีส่วนเท่า ๆ กัน และควรแบ่งให้แต่ละฝ่ายตามทิศทางที่ครอบครองอยู่นั้น
(อ้างฎีกาที่ 1993/2500)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินตามโฉนดตราจองที่ ๑๘๐๑ เดิมนางจีดได้จดทะเบียนยกให้นางไข่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยกึ่งหนึ่ง ร่วมกันครอบครอง ยังไม่ได้แบ่งกันเป็นส่วนสัด ต่อมา จำเลยได้จดทะเบียนโอนรับมรดกส่วนของนางจีด โจทก์จดทะเบียนรับมรดกนางไข่ และครอบครองร่วมกันมา ต่อมาโจทก์ขอส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยอม ขอให้พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินตามโฉนดตราจองนั้นให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทจำเลยครอบครองประมาณ ๕ ไร่ โจทก์ครอบครองประมาณ ๓ ไร่ ได้แบ่งเขตกันเป็นส่วนสัดและได้แยกกันครอบครองจำเลยครอบครองมาเกิน ๑๐ ปี แล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครอง ๕ ไร่ พิพากษาให้แบ่งที่ดินโฉนดตราจองที่ ๑๘๐๑ ออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ได้ซีกด้านตะวันตก จำเลยได้ซีกด้านตะวันออก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาท ๕ ไร่มาเกิน ๑๐ ปีแล้ว พิพากษาให้โจทก์ได้ซีกด้านตะวันตกเนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๒๐ วา จำเลยได้ซีกตะวันออกเนื้อที่ ๕ ไร่
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีหลักฐานฟังได้ว่าได้แยกกันครอบครองที่พิพาทเป็นส่วนสัดแล้ว โดยจำเลยครอบครองทางทิศตะวันออก โจทก์ครอบครองทางทิศตะวันตก พยานหลักฐานของจำเลยยังไม่พอจะรับฟังว่าจำเลยได้ครอบครองจำนวน ๕ ไร่ ต้องถือว่าโจทก์จำเลยมีส่วนเท่ากัน แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าต่างได้แยกกันครอบครองมาก่อนแล้ว จึงควรแบ่งให้แต่ละฝ่ายได้ตามทิศทางที่ครอบครองอยู่ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๙๓/๒๕๐๐
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น