คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขัดทรัพย์โดยกล่าวรวม ๆ ว่าทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นสินบริคณห์ นั้น จึงอาจเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย จึงขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไม่ได้ (ตามฎีกาที่ 328/2503) แต่ถ้าผู้ร้อง(ภรรยา) ร้องขัดทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นสินเดิมของผู้ร้อง และมิใช่หนี้ร่วม มีฎีกาที่ 1250/2493 ว่า หนี้สินซึ่งจำเลยผู้เป็นสามีก่อขึ้นในระหว่างเป็นสามีภรรยากันเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว ภรรยาไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย เว้นแต่จะเป็นหนี้ร่วม ดังนี้ เมื่อคู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นสินเดิมของฝ่ายใด และหนี้เป็นหนี้ร่วมหรือไม่ เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน ศาลฎีกาจึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่

ย่อยาว

คดีเดิม ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นสามีผู้ร้องใช้หนี้เงินกู้ จำเลยไม่ใช้โจทก์นำยึดที่นาเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ว่า ที่นาที่ยึดเป็นสินเดิมของผู้ร้อง หนี้รายนี้ไม่ใช่หนี้ร่วมโจทก์ไม่มีสิทธิยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยและเป็นหนี้ร่วม
วันชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นงดสืบพยานวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๒ สินเดิมก็คือสินบริคณห์นั่นเอง ผู้ร้องซึ่งเป็นภรรยา จึงรองขัดทรัพย์ไม่ได้ ชอบที่จะขอกันส่วนของตน นัยฎีกาที่ ๙๒๘/๒๕๐๓ พิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า รูปคดีนี้ไม่ตรงกับคีดีตาม ฎีกาที่ ๙๒๘/๒๕๐๓ เพราะตามฎีกาดังกล่าวผู้ร้องกล่าวรวม ๆ ว่า เป็นสินบริคณห์ หาได้อ้างว่าเป็นสินเดิมเช่นคดีนี้ไม่ จึงอาจเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมด้วย ผู้ร้องจึงขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไม่ได้ ผิดกับคดีนี้ เพราะโจทก์อ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย และเป็นหนี้ร่วม ผู้ร้องอ้างว่าเป็นสินเดิมของผู้ร้องและมิใช่หนี้ร่วม มีฎีกาที่ ๑๒๕๐/๒๔๙๓ วินิฉัยว่าหนี้สินจำเลยผู้เป็นสามีได้ก่อขึ้นในระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภรรยากันเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ แล้ว ภรรยาไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย เว้นแต่จะเป็นหนี้ร่วม เรื่องนี้คู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ว่า ที่ดินที่ยึดเป็นสินเดิมของฝ่ายใด และหนี้รายนี้เป็นหนี้ร่วมหรือไม่ ซึ่งต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป จะวินิจฉัยชี้ขาดยังไม่ได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพาษาใหม่.

Share