คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าตึกจากจำเลยถูกรบกวนขัดสิทธิในอันจะได้ครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลภายนอกมีสิทธิในการเช่าเหนือทรัพย์สินดีกว่าโจทก์ได้ชื่อว่าโจทก์ผู้เช่าถูกรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ประกอบด้วยมาตรา 549
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 482 เป็นบทบัญญัติถึงเรื่องที่ว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิต่อผู้ซื้อต่างกับมาตรา 481 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ขายจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ แม้ข้อความในมาตรา 482วรรคท้ายจะบัญญัติถึงความรับผิดของผู้ขายอยู่ด้วยก็ดีแต่ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในมาตรา 482 มาตราเดียวกันและมาตรา 482 นี้หาได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องไว้ไม่จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ขายถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาในคดีแล้วไม่ยอมเข้ามาเป็นกรณีที่ผู้ขายจงใจหลบหลีกความรับผิดอย่างร้ายแรง กฎหมายจึงไม่บัญญัติหรือท้าวความให้มีอายุความเพียง 3 เดือนเท่ามาตรา 481 จึงต้องถือว่าอายุความสำหรับมาตรา 482 นี้ ยกเว้นหรือแยกต่างหากไปจากอายุความในมาตรา 481 จึงต้องใช้อายุความธรรมดาเหมือนดังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น คือ มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

คดีนี้ มีปัญหาสู่ศาลฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เดิมโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าตึกเลขที่ 34 ของจำเลยซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของนายสามและนางบุญธรรมมีกำหนด 10 ปี จำเลยได้รับเงินค่าเช่าล่วงหน้า 10 ปี กับเงินกินเปล่าอีกจำนวนหนึ่งไปจากโจทก์แล้ว การเช่าได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากตึกนั้นเพียง 2 ปี ก็มีนางจิระเพ็ญเข้ามาแย่งอยู่อ้างว่าได้เช่ามาจากนายสาม นางบุญธรรม โจทก์จึงฟ้องขับไล่นางจิระเพ็ญและได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งเรียกจำเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จำเลยไม่เข้ามาในคดี ศาลแพ่งพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ตามคดีแพ่งเลขแดงที่ 1962/2498 เป็นอันว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากตึกที่เช่านี้เพียง 2 ปีเท่านั้น โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเช่าและเงินกินเปล่าที่จำเลยผู้ให้เช่ารับล่วงหน้าไปทั้งหมดคืนจากจำเลยเป็นคดีนี้ขึ้น ตามคำให้การของจำเลยก็รับอยู่ว่า จำเลยได้ทำสัญญาตกลงจะซื้อที่ดินรายนี้ปลูกตึกพิพาทจากนายสาม นางบุญธรรม และได้ชำระราคาที่ดินไปแล้วแต่การที่จำเลยซื้อที่ดินรายนี้ไม่ได้นั้นจำเลยก็ได้รับเงินค่าซื้อที่ดินและค่าก่อสร้างตึกคืนจากนายสามนางบุญธรรมแล้วตามคดีของศาลแพ่งแดงที่ 1022/2499 แต่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้เกินกว่า 3 เดือนนับแต่คดีแดงที่ 1962/2498 ที่โจทก์ฟ้องขับไล่นางจิระเพ็ญถึงที่สุดไปแล้ว แต่ยังไม่เกินกำหนด 10 ปี

ศาลฎีกาเห็นว่า รูปคดีฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าตึกจากจำเลยถูกรบกวนขัดสิทธิในอันจะได้ครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุขเพราะบุคคลภายนอกมีสิทธิในการเช่าเหนือทรัพย์สินดีกว่าโจทก์จึงได้ชื่อว่าโจทก์ผู้เช่าถูกรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 ประกอบด้วยมาตรา 549คือเรื่องการรอนสิทธิในการเช่าทรัพย์นั้น มาตรา 549 ให้นำบทบัญญัติในการรอนสิทธิในลักษณะซื้อขายมาบังคับโดยอนุโลม

ศาลฎีกาหยิบยกมาตรา 481 และมาตรา 482 ขึ้นกล่าวอ้างแล้ววินิจฉัยว่ามาตรา 482 เป็นบทบัญญัติถึงเรื่องที่ว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิต่อผู้ซื้อ ซึ่งต่างกับมาตรา 481 อันเป็นเรื่องที่ผู้ขายจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ แม้ข้อความในมาตรา 482 วรรคท้ายจะบัญญัติถึงความรับผิดของผู้ขายอยู่ด้วยก็ดี แต่ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในมาตรา 482 มาตราเดียวกัน และมาตรา 482นี้หาได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องไว้ไม่ จึงเห็นได้ว่าการที่ผู้ขายถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาในคดีแล้วไม่ยอมเข้ามาเช่นนี้ เป็นกรณีที่ผู้ขายจงใจหลบเลี่ยงความรับผิดอย่างร้ายแรง กฎหมายจึงไม่บัญญัติหรือท้าวความให้มีอายุความเพียง 3 เดือนเท่ามาตรา 481 เมื่อเป็นดังนี้ ก็ต้องถือว่าอายุความสำหรับมาตรา 482 นี้ยกเว้นหรือแยกต่างหากไปจากอายุความในมาตรา 481 จึงต้องใช้อายุความธรรมดาเหมือนดังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น คือ มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดเพราะโจทก์ฟ้องจำเลยยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่คดีเดิมถึงที่สุด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความชอบแล้ว

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share