แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เสมียนรถไฟมีหน้าที่รับผิดชอบในการรับจ่ายสินค้า ได้จ่ายสินค้าให้แก่จำเลยเพราะถูกจำเลยหลอกลวง โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของสินค้านั้น เมื่อเสมียนรถไฟจ่ายสินค้าผิดตัวผู้รับไป ก็จะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น เสมียนรถไฟจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้หลอกลวงนายสมบุญ ทั่งทอง เสมียนผู้ดูแลรักษาสินค้าสถานีรถไฟสุไหงโกลกว่า จำเลยเป็นนายเปลื้อง ฉิมบรรยง เจ้าของพันธุ์ไม้ต่าง ๆ รวม ๑๕ เข่งที่ส่งมากับรถไฟแต่ใบอินวอยซ์(ใบส่ง-รับของ) หายไป นายสมบุญหลงเชื่อ จึงได้มอบพันธุ์ไม้ ๑๕ เข่ง รวมราคา ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ความจริงจำเลยไม่ใช่นายเปลื้องเจ้าของพันธุ์ไม้และไม่ได้ทำใบอินวอยซ์หาย ต่อมาเจ้าพนักงานและพวกผู้เสียหายติดตามได้พันธุ์ไม้หลายอย่างของนายเปลื้องได้ที่บ้านนายส้าน โลหะวิจารณ์ ซึ่งจำเลยนำไปฝากไว้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงจำเลยได้หลอกลวงนายสมบุญด้วยข้อความอันเป็นเท็จมารับพันธุ์ไม้ของนายเปลื้องไปจากนายสมบุญโดยทุจริต นายสมบุญหลงเชื่อได้มอบให้ไป เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า องค์การรถไฟผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ ส่วนนายสมบุญไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๔)บัญญัติว่าผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจาการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔,๕ และ ๖ ข้อนี้ได้ความ่จากนายประวิตรนายสถานีสุไหงโกลกผู้บังคับบัญชาของนายสมบุญว่า นายสมบุญเสมียนสถานีผู้รับจ่ายสินค้า จ่ายสินค้าผิดตัวผู้รับไป นายสมบุญต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เห็นได้ชัดว่านายสมบุญเป็นผู้เสียหายในเรื่องนี้ด้วยอยู่แล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน