แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่ฟ้องโจทก์มีหลายข้อหา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้ผู้เสียหาย เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาความผิดตามฟ้องซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเท่านั้น และการที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมา ต้องถือว่าเป็นการรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาความผิดตามฟ้องที่โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายเช่นเดียวกัน
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดของจำเลยทั้งสี่ในข้อ (ก) และข้อ (ข) แต่ละข้อหาแยกเป็นข้อย่อยมาให้ชัดเจน เพื่อชี้ให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องแต่ละข้อหาแยกเป็นความผิดหลายกรรม ต่างกัน แม้ในตอนต้นโจทก์จะบรรยายฟ้องรวมกันมาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ด้วยก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็บรรยายอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามมาตรา 90 มาด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง ข้อ (ก) ในแต่ละข้อหาแยกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ (ก) เป็นความผิดหลายกรรมหาได้ไม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26
แม้ความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 59 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 20 ประกอบมาตรา 17
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๑๕, ๑๑๗ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๒๕, ๒๗, ๕๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๐, ๙๑ และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ เพื่อให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่
ระหว่างพิจารณา นายสถิตย์ กาญจนวิสิษฐผล ผู้เสียหายที่ ๑ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๘ และมาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๕ (๒), ๒๗ (๔) ๕๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๐, ๙๑ ในส่วนที่เป็นการกระทำต่อ ซอสหอยนางรมตราแม่ครัว (ตามฟ้องข้อ (ก)) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๕ (๒), ๒๗ (๔), ๕๙ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน ในส่วนที่เป็นการกระทำต่อน้ำปลาแท้ตราทิพรส (ตามฟ้องข้อ (ข)) เป็นกรรมเดียวเป็น ความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๕ (๒), ๒๗ (๔), ๕๙ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน รวมจำคุกคนละ ๑ ปี จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การ รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ ๖ เดือน ริบของกลาง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่ ผู้เสียหายที่ ๑ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ ๑ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้นั้น ต้องถือว่าเป็นการอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ ๑ เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามฟ้องข้อ (ก) ซึ่งผู้เสียหายที่ ๑ เป็นผู้เสียหายเท่านั้น และการที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมานั้น ต้องถือว่าเป็นการรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเฉพาะความผิดตามฟ้อง ข้อ (ก) เช่นเดียวกัน
ในชั้นนี้คงเป็นปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมข้อแรกว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ตามฟ้องข้อ (ก) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันซึ่งศาลต้องลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดของจำเลยทั้งสี่ ในข้อ (ก) และ ข้อ (ข) แต่ละข้อหาแยกเป็นข้อย่อยมาให้ชัดเจน เพื่อชี้ให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องดังกล่าวแต่ละข้อหาแยกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้ในตอนต้นโจทก์จะบรรยายฟ้องรวมกันมาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ด้วยก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็บรรยายฟ้องอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็น ความผิดต่อกฎหมายหลายบทและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ มาด้วย ดังนี้ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้อง ข้อ (ก) ในแต่ละข้อหาแยกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ตามฟ้อง ข้อ (ก) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์หาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมข้อสุดท้ายว่า ศาลจะต้องพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ อีกสถานหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๙ สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ (ก) ด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้ความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๙ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือน ถึง ๑๐ ปี และปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงโทษจำคุกสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐ ประกอบมาตรา ๑๗ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ สถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งจึงชอบด้วยกฎหมาย ดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน