คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4882/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา380วรรคสองบังคับให้ต้องมีมาแสดงตรงตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94โจทก์คงมีเพียงเอกสารซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่5เป็นผู้ค้ำประกันและผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันค่าเช่าซื้อให้แก่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ตามสัญญาหรือผู้เช่าซื้อตายหรือล้มละลายหรือหนี้เหตุหนึ่งเหตุใดซึ่งกระทำให้ผู้ให้เช่าต้องเสียหายผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบชำระหนี้ตลอดจนค่าเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อมาแสดงต่อศาลเท่านั้นหาใช่สัญญาค้ำประกันมูลหนี้การซื้อขายตามฟ้องมาแสดงต่อศาลไม่การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่5ทำสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาเอกสารจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา94(ข)จึงต้องฟังว่าโจทก์ไม่มีเอกสารสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องมาแสดงต่อศาลโจทก์จึงฟ้องร้องให้จำเลยที่5รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่1ไม่ได้ ฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินซึ่งจำเลยที่2ถึงที่6รับโอนเกินส่วนไปคืนแก่จำเลยที่1หากจำเลยทั้งหกไม่ดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนนั้นไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอีกเรื่องหนึ่งดังนี้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของโจทก์ในคำฟ้องส่วนนี้นั้นเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา18และมาตรา228(3)ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องหากเสร็จไปแต่ประเด็นบางข้อโจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้เมื่อศาลพิพากษาคดีดังกล่าวแล้วตามบทบัญญัติวรรคสามของมาตรา228แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่1ในนามของตนเองให้จำเลยที่2ถึงที่6โอนสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วคืนให้แก่จำเลยที่1โดยปลอดจำนองเพื่อป้องกันสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายและหากจำเลยทั้งหกไม่ยอมปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนหาได้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคำฟ้องในคดีก่อนซึ่งโจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาไม่ยอมโอนสิทธิการครอบครองที่ดินดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายจึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่1โอนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวแล้วแก่โจทก์คำฟ้องคดีนี้จึงไม่ซ้ำเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีของนางสวง ดอนคำพามีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จำเลยที่ 1 กับนางสวงเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินตามหนังสือรับรอการทำประโยชน์(น.ส.3) เล่ม 3 หน้า 179 ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อจังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 41 ไร่ 16 ตารางวา โดยร่วมกันซื้อมาจากนายอู๋ บุญนำ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2501 แต่ใส่ชื่อนางสวงแต่ผู้เดียว หลังจากซื้อมาแล้วก็ร่วมกันครอบครองตลอดมาจนวันที่5 เมษายน 2529 นางสวงถึงแก่ความตาย ที่ดินส่วนของนางสวงกึ่งหนึ่งตกเป็นมรดกได้แก่จำเลยทั้งหกคนละประมาณ 3 ไร่ 1 งาน68 ตารางวา จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวรวมเนื้อที่23 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ เมื่อวันที่12 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินส่วนของตน เนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ ให้โจทก์ ราคาไร่ละ 35,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 840,000 บาท โจทก์วางมัดจำไว้ 200,000 บาท ที่เหลือจะชำระในวันโอนสิทธิครอบครอง ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนวันโอนไปวันที่ 12 มิถุนายน 2534 โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อขายจำเลยที่ 5 จะใช้ค่าเสียหายให้ตามที่ระบุในสัญญา หลังจากนั้นจำเลยทั้งหกได้คบคิดกันจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อให้พ้นจากการที่โจทก์จะบังคับตามสัญญาจะซื้อขายทั้งนี้เพื่อจะฉ้อโกงเอาเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ต่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับโอนที่ดินไปทั้งแปลงอย่างทรัพย์มรดก ทั้งที่จำเลยต่างทราบว่านางสวงถือสิทธิเพียงกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ตกลงขายให้โจทก์แล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 5 แปลง ตาม น.ส.3 ก เลขที่ 397, 398, 399,400 และ 401 แล้วแบ่งกันคนละแปลง เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1จึงได้ผิดนัดไม่ไปดำเนินการโอนแก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 506/2535 ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชนะคดีแต่ไม่อาจบังคับคดีได้เพราะมิได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นจำเลยด้วย โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนที่จำเลยแต่ละคนรับมรดกเกินส่วนของตนคืนให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายและรับเงินที่ค้างชำระจากโจทก์ แต่จำเลยทั้งหกไม่ยินยอมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เล่ม 3 หน้า 179 เฉพาะที่เกินส่วนของแต่ละคน ขอบังคับให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 397จากเจ้าหนี้ แล้วจดทะเบียนโอนคืนจำเลยที่ 1 จำนวน 3 ไร่ 2 งาน8 ตารางวา บังคับให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 401 คืนจำเลยที่ 1 จำนวน 3 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวาบังคับให้จำเลยที่ 4 จดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 400คืนจำเลยที่ 1 จำนวน 3 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา บังคับให้จำเลยที่ 5จดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 399 (ที่ถูกคืนเลขที่ 398) คืนจำเลยที่ 1 จำนวน 9 ไร่ 2 งาน 96 ตารางวา บังคับให้จำเลยที่ 6จดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 399 คืนจำเลยที่ 1 จำนวน3 ไร่ 3 งาน 84 ตารางวารวมเป็นของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 24 ไร่2 งาน 98 ตารางวา ด้านที่ติดต่อกันทางทิศใต้ และให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ และรับเงินส่วนที่ค้างชำระไปจากโจทก์จำนวน 640,000 บาท หากไม่อาจจดทะเบียนโอนได้ขอให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ชดใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจำนวน400,000 บาท กับคืนเงินมัดจำที่จำเลยที่ 1 รับไว้จำนวน 200,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่ไปจดทะเบียนโอนคืนที่ดินให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ไม่ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 5 เกี่ยวกับการค้ำประกัน จำเลยนอกจากนั้นให้ยกฟ้องเพราะเป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียม ชั้นอุทธรณ์ให้ เป็น พับ
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ในการที่จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจะซื้อขายการคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง บัญญัติว่าอนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94บัญญัติว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก ดังนี้ สัญญาค้ำประกันจึงเป็นเอกสารที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง บังคับให้ต้องมีมาแสดงตรงตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ดังกล่าวแล้วข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์คงมีเพียงอกสารหมาย จ.12 ซึ่งมีข้อความในเอกสารดังกล่าวระบุว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันและผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันค่าเช่าซื้อให้แก่ ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ตามสัญญาหรือผู้เช่าซื้อตาย หรือล้มละลาย หรือหนี้เหตุหนึ่งเหตุใดซึ่งกระทำให้ผู้ให้เช่าต้องเสียหาย ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบชำระหนี้ ตลอดจนค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นอันเป็นสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อมาแสดงต่อศาลหาใช่สัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องมาแสดงต่อศาลไม่ การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาเอกสารหมาย จ.12จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)ซึ่งห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังคำพยานบุคคลดังกล่าว ฉะนั้นจึงต้องฟังว่าโจทก์ไม่มีเอกสารสัญญาค้ำประกันมูลหนี้ตามฟ้องมาแสดงต่อศาลจึงฟ้องร้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ส่วนประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ไว้ว่า คำฟ้องของโจทก์ในข้ออ้างที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เล่มที่ 3 หน้า 179 ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีเนื้อที่ 41 ไร่ 16 ตารางวา ร่วมกบนางสวงกึ่งหนึ่งโดยร่วมกันซื้อมาจากนายอู๋ บุญนำ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2501 แต่ใส่ชื่อนางสวงแต่ผู้เดียว ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2529 นางสวงถึงแก่ความตายที่ดินส่วนของนางสวงตกเป็นมรดกได้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6คนละส่วน แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 โดยเจตนาทุจริตสมคบกันให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับโอนที่ดินดังกล่าวไปทั้งแปลงแล้วแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 5 แปลงตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 397 ถึง 401 แบ่งให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 4 และที่ 3 ตามลำดับ เกินส่วนมรดกที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะได้รับทั้งที่จำเลยต่างทราบดีว่านางสวงมีสิทธิครอบครองเพียงกึ่งหนึ่งและจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์แล้ว โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โอนที่ดินส่วนที่เกินสิทธิในการรับมรดกคืนแก่จำเลยที่ 1 แล้วให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินแก่โจทก์ตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพิกเฉย จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับโอนเกินส่วนไปคืนแก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งหกไม่ดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนนั้น ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 506/2535 ของศาลชั้นต้นแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของโจทก์ในคำฟ้องส่วนนี้นั้นเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 และมาตรา 228(3)ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปแต่ประเด็นบางข้อโจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ เมื่อศาลพิพากษาคดีดังกล่าวแล้วตามบทบัญญัติวรรคสาม ของมาตรา 228 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 227 ที่ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องจึงต้องอุทธรณ์คำสั่งภายใน1 เดือน นับแต่วันมีคำสั่ง โจทก์ยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่ชอบ และไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวให้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีกและเห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 506/2535 ของศาลชั้นต้น คำฟ้องในคดีนี้จึงไม่ซ้ำกับคำฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 506/2535 ของศาลชั้นต้น ส่วนคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6โอนสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วคืนให้แก่จำเลยที่ 1โดยปลอดจำนองเพื่อป้องกันสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายและหากจำเลยทั้งหกไม่ยอมปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนหาได้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคำฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 506/2535 ซึ่งโจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมโอนสิทธิการครอบครองที่ดินดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายจึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวแล้วแก่โจทก์ดังนั้นคำฟ้องคดีนี้จึงไม่ซ้ำกับคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 506/2535 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของโจทก์ในประเด็นข้อนี้โดยให้ยกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ในประเด็นที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 คืนที่ดินส่วนที่เกินสิทธิในการรับมรดกคืนแก่จำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ในประเด็นดังกล่าวไว้ดำเนินการต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 ในประเด็นเรื่องค้ำประกันนั้นให้เป็นพับ

Share