คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4875/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยโดยมิได้ลดโทษให้ จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ คงเพียงแต่อุทธรณ์ขอให้ลดโทษให้จำเลยเมื่อศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 และพิพากษายืน จำเลยจะฎีกาขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้อีกไม่ได้ เพราะความผิดฐานนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 245 แล้วทั้งยังขัดต่อคำรับสารภาพของจำเลย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้เฮโรอีนของกลางมีปริมาณมาก แต่จำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมทำให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีเป็นไปโดยสะดวกนับเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ถือได้ว่ามีเหตุบรรเทาโทษตามกฎหมาย ความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยมิได้รับอนุญาตนั้น ศาลชั้นต้นมิได้ระบุวรรคในตัวบทมาตราที่ใช้ปรับบทลงโทษและศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายน2522 ข้อ 1 (1) พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2529 ข้อ 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 371 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4และสั่งริบเฮโรอีนและการเป๋าของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นิจารณา แล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง มาตรา 66วรรคสอง วางโทษประหารชีวิต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 1,000 บาท เรียงกระทงลงโทษเป็นประหารชีวิตและปรับ 1,000 บาท เฮโรอีนของกลางมีจำนวนมากนับว่าเป็นภัยต่อสังคมอย่างยิ่ง จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่จับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายแต่กลับมากระทำผิดเสียเองพยานหลักฐานโจทก์หนักแน่นมั่นคง คำรับสารภาพของจำเลยเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน แม้จำเลยไม่รับสารภาพก็พอฟังลงโทษจำเลยได้คำรับสารภาพของจำเลยไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงไม่มีเหตุลดโทษ ริบเฮโรอีนและกระเป๋าของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ว่า คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ส่วนที่จำเลยฎีกา ขอให้ยกฟ้อง ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่าเป็นฎีกาที่ขัดต่อคำรับสารภาพของจำเลยและในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษนั้นในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดเป็นเพียงขอให้ลดโทษเท่านั้นเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ปัญหานี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษนั้นเห็นว่า แม้เฮโรอีนของกลางจะมีปริมาณมาก แต่จำเลยได้ให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ทำให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีเป็นไปโดยสะดวกซึ่งหากจำเลยให้การปฏิเสธอย่างน้อย อาจทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในการวินิจฉัยคดีว่าจำเลยจะได้กระทำความผิดจริงหรือไม่คำให้การรับสารภาพของจำเลยจึงนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่ ถือได้ว่ามีเหตุบรรเทาโทษตามกฎหมาย สมควรลดโทษให้จำเลยที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยโดยไม่ลดโทษให้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น อนึ่ง ปรากฏว่าในความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยมิได้รับอนุญาตนั้น ศาลชั้นต้นมิได้ระบุวรรคในตัวบทมาตราที่ใช้ปรับบทลงโทษไว้ และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลย มี ความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่งมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ที่แก้ไขแล้วส่วนความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (2) คงให้จำคุกจำเลยไว้ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share