คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรื่องกู้ยืมเงิน แต่บรรยายฟ้องและนำสืบว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับโควต้าเป็นผู้ส่งอ้อยให้แก่โรงงานน้ำตาล โจทก์ตกลงให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นลูกไร่ส่งอ้อยให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ออกทุนให้จำเลยทั้งสองก่อนโดยจ่ายเป็นเงินสดบ้างเป็นเช็คบ้าง ทั้งได้จ่ายค่าไถ่ที่ดินค่าปุ๋ย และของอื่น ๆ เพื่อให้จำเลย ใช้ในการทำไร่อ้อย โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยลงลายมือชื่อกำกับหนี้ทุกรายการเมื่อตัดอ้อยแล้วจำเลยทั้งสองส่งให้โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จะนำอ้อยดังกล่าวไปขายให้โรงงานน้ำตาล ครั้นโจทก์ที่ 2 ได้รับเงินค่าขายอ้อย จากโรงงานจึงมาคิดหักทอนบัญชีกับจำเลยทั้งสองหากค่าอ้อยที่ จำเลยทั้งสองได้รับไม่พอกับจำนวนเงินที่จำเลยเบิกไปก็ยกยอดไป ในปีต่อไปและโจทก์คิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งจำเลยทั้งสองรับว่า เป็นผู้ปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลในโควต้าของโจทก์ โจทก์จ่ายค่าปุ๋ย ให้จำเลยเมื่อโจทก์นำอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลและได้รับเงินมาแล้วก็มาคิดบัญชีกันเป็นรายปี แต่หลังจากจำเลยเลิกเป็นลูกไร่ของโจทก์แล้ว ไม่ได้คิดเงินกัน โจทก์จำเลยจะเป็นหนี้ลูกหนี้กันเท่าใดจึงไม่ทราบ กรณีเช่นนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยจึงเข้าลักษณะ บัญชีเดินสะพัดซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
แม้โจทก์จะฟ้องเรื่องกู้ยืม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องเข้าลักษณะ บัญชีเดินสะพัด ศาลมีอำนาจยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่คดีได้ และการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน ได้กู้เงินของโจทก์ไปหลายคราวและตกลงให้มีการหักหนี้กันเมื่อสิ้นปีของแต่ละปี เมื่อหักหนี้กันแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมจำเลยไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินมาแสดงและคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะมิได้ฟ้องภายใน ๒ ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๑๑๖,๘๒๘.๖๙ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ ๒ ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยอ้างเอกสารตามสำเนาภาพถ่ายท้ายคำฟ้องหมายเลข ๒, ๓, ๔, ๕ และ ๖ เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งความจริงเอกสารดังกล่าวเป็นบัญชีรายจ่ายที่โจทก์ทำขึ้นเพื่อแสดงแก่ผู้เป็นหุ้นส่วน มิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน และนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ที่ ๒ ได้รับโควต้าเป็นผู้ส่งอ้อยให้แก่โรงงานน้ำตาล โจทก์ตกลงให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกไร่ส่งอ้อยให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์นำไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ออกทุนให้จำเลยทั้งสองก่อนโดยจ่ายเป็นเงินสดบ้าง เป็นเช็คบ้าง ทั้งได้จ่ายค่าไถ่ที่ดิน ค่าปุ๋ย และของอื่น ๆ เพื่อให้จำเลยใช้ในการทำไร่อ้อย โจทก์ที่ ๒ ให้จำเลยลงลายมือชื่อกำกับหนี้ทุกรายการในบัญชีเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๓ เมื่อตัดอ้อยแล้วจำเลยทั้งสองส่งให้โจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๒ จะนำอ้อยดังกล่าวไปขายให้โรงงานน้ำตาล ครั้นโจทก์ที่ ๒ ได้รับเงินค่าขายอ้อยจากโรงงาน จึงมาคิดหักทอนบัญชีกับจำเลยทั้งสอง บัญชีเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๓ เป็นบัญชีจำนวนเงินและสิ่งของตลอดจนค่าแรงจ้างคนงานที่จำเลยเบิกไปจากโจทก์ หากค่าอ้อยที่จำเลยทั้งสองได้รับไม่พอกับจำนวนเงินที่จำเลยเบิกไปก็ยกยอดไปในปีรุ่งขึ้น และโจทก์คิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลย จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทดรองจ่ายเงินและสิ่งของให้แก่จำเลยเป็นคราว ๆ เพื่อปลูกอ้อยส่งให้แก่โจทก์ที่ ๒ และนำสืบรับว่าจำเลยทั้งสองปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลในโควต้าของโจทก์ โจทก์จ่ายปุ๋ยให้จำเลยเมื่อโจทก์นำอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลและได้รับเงินมาแล้วก็มาคิดบัญชีกันเป็นรายปีแต่หลังจากจำเลยเลิกเป็นลูกไร่ของโจทก์แล้วไม่ได้คิดเงินกัน โจทก์จำเลยจะเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันเท่าใดจึงไม่ทราบ ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ ๒ จำเลยจึงเข้าลักษณะบัญชีเดินสะพัด ซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ บัญชีเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๓ มิใช่บัญชีแสดงค่าใช้จ่ายในการทำไร่อ้อย เพราะตามรายการระบุว่าจำเลยเบิกจากโจทก์ไป และโจทก์ยังคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองอีกด้วยแม้โจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นเรื่องการกู้ยืม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องเข้าลักษณะบัญชีเดินสะพัดศาลมีอำนาจยกบทกฎหมายที่ถูกต้องมาปรับแก่คดีได้ และการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนด ๑๐ ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน

Share