คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4859/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ว. และจำเลยที่ 1 ต่างทำหน้าที่ในสวนสาธารณะที่เกิดเหตุของเทศบาลจำเลยที่ 3 ได้เสียบ ปลั๊กและปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันหนูไม่ให้มากัดทำลายต้นกล้าไม้ในสวนซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 เป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ของ จำเลยที่ 3 ถือว่าเป็นงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ส. เป็นเพียงผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย น. ในการดำเนินคดีแทนเด็กชาย น. มิได้เป็นโจทก์ในฐานะส่วนตัวจำเลยที่ 3 จะอ้างการกระทำของ ส. ซึ่งมิได้เป็นผู้ต้องเสียหายเพื่อให้พ้นความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 หาได้ไม่ เด็กชาย น. ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายถึงสมองฝ่อเป็นอัมพาต ตลอดชีวิต พูดไม่ได้ ย่อมจะต้องได้รับการดูแลรักษาในสภาพที่ป่วยเจ็บจนกว่าจะถึงแก่ความตาย ตามสภาพเช่นนี้ค่าดูแลรักษาที่จะต้องใช้จ่ายต่อไปจึงมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไปอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดให้เสียหายแก่ร่างกายในอนาคตและเด็กชาย น. ย่อมเสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสามได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายสันติ เพชรสงค์ อายุ 10 ปี ผู้เยาว์ จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของเทศบาลจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นคนงานทำกิจการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 3 ภายใต้การควบคุมดูแลและตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับมอบหมายหน้าที่การงานจากจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ดูแล ตกแต่ง ซ่อมแซม บำรุงรักษาสถานที่ พัสดุ และทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในบริเวณสวนเสรี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะของจำเลยที่ 3รวมทั้งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาระวังป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เข้าไปใช้บริการในสวนสาธารณะแห่งนี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2533 โจทก์กับเด็กชายสันติ ได้ไปพักผ่อนในสวนเสรีดังกล่าวเวลาประมาณ 18 นาฬิกา เด็กชายสันติไปวิ่งเล่นในบริเวณสนามพบเส้นลวดทองแดงทอดขวางหน้าบริเวณกระถางต้นไม้โดยไม่รู้ว่าเป็นเส้นลวดสายไฟเปลือยมีกระแสไฟฟ้าแรงสูงได้จับลวดนั้นเพื่อเหวี่ยงทิ้ง จึงถูกกระแสไฟฟ้าดูดล้มลงหมดสติโจทก์นำเด็กชายสันติส่งโรงพยาบาลสงขลา ต่อมาได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2533 แพทย์ให้มารักษาพยาบาลที่บ้าน เพราะเด็กชายสันติสมองฝ่อ เป็นอัมพาตพิการตลอดชีวิต พูดไม่ได้ เด็กชายสันติได้รับการรักษาพยาบาลที่บ้านเรื่อยมาจนถึงบัดนี้ อาการป่วยก็ไม่มีท่าทีว่าจะหายเป็นปกติ เหตุเกิดเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการหรือยินยอมให้คนงานลูกจ้างของจำเลยที่ 3 เสียบปลั๊กต่อสายไฟให้กระแสไฟฟ้าแล่นไปตามสายไฟเปลือยซึ่งวางทอดไปตามกระถางเพาะชำต้นไม้บริเวณสวนเสรี เพื่อดักฆ่าหนูที่กัดกินต้นไม้ในเวลากลางคืน จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรักษาความปลอดภัยไม่ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป ตามปกติจะเสียบปลั๊กปล่อยกระแสไฟฟ้าตามเส้นลวดดังกล่าวในช่วงเวลาระหว่าง 21 นาฬิกา ถึง 4 นาฬิกา ของวันถัดไปอันเป็นช่วงเวลาที่ปลอดจากคนใช้บริการในสวนแล้วเท่านั้น แต่ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปล่อยกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ก่อน 18 นาฬิกา โดยมิได้แจ้งเหตุอันตรายให้ประชาชนทราบล่วงหน้าโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ด้วย โจทก์ขอเรียกค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสงขลาเป็นเงิน21,235 บาท ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นเงิน64,618 บาท ค่าจ้างพยาบาลเฝ้าดูแลที่บ้านและค่าไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกครั้งที่มีอาการรุนแรง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆที่เกี่ยวกับรักษาพยาบาลจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 14,147 บาทรวมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กชายสันติจนถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อรักษาพยาบาลและอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายสันติ อย่างต่ำเดือนละ 4,000 บาท จนตลอดชีวิต โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเพื่อการนี้ในอนาคตเป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 480,000 บาทและขอเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเด็กชายสันติต้องขาดความสามารถในการประกอบกิจการงานใด ๆ ทั้งสิ้น ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเงิน 300,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งหมด 880,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 880,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อเด็กชายสันติ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ติดตั้งสายไฟไว้ในที่เกิดเหตุและไม่ทราบว่ามีสายไฟแรงสูงอยู่ในบริเวณนั้นที่เด็กชายสันติถูกกระแสไฟฟ้าดูดเกิดจากความประมาทของโจทก์เองที่ไม่ดูแลเอาใจใส่เด็กชายสันติ ปล่อยให้วิ่งเล่นไปตามใจชอบ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 3 การปล่อยกระแสไฟฟ้าในบริเวณสวนสาธารณะเทศบาลเมืองสงขลาไม่ใช่ทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3เหตุที่เด็กชายสันติถูกกระแสไฟฟ้าดูดเกิดเพราะความประมาทของโจทก์เองที่ไม่เอาใจใส่ดูแลบุตรผู้เยาว์อย่างใกล้ชิดปล่อยปละละเลยให้บุตรไปเล่นซุกซนตามลำพังในที่ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามป้องกันไม่ให้คนเข้าไป ทั้งที่ได้ทำแนวรั้ว มีป้ายปักเตือนและเปิดไฟฟ้าสว่างเห็นได้ชัดว่าเป็นเขตหวงห้าม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน584,548 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2533 โจทก์กับเด็กชายสันติบุตรผู้เยาว์ไปเที่ยวพักผ่อนในสวนเสรีซึ่งเป็นสวนสาธารณะของจำเลยที่ 3ครั้นเวลาประมาณ 18 นาฬิกา เด็กชายสันติไปโดนเส้นลวดซึ่งจำเลยที่ 2 พนักงานดูแลสวนของจำเลยที่ 3 และนายวุฒิชัย บุญเทพลูกจ้างงานสวนของจำเลยที่ 3 ร่วมกันต่อกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันหนูไม่ให้เข้าไปกัดทำลายกล้าต้นไม้ในกระถาง เป็นเหตุให้เด็กชายสันติถูกกระแสไฟฟ้าดูดได้รับอันตรายแก่กายถึงสมองฝ่อ เป็นอัมพาตตลอดชีวิต พูดไม่ได้ แม้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลสงขลาและโรงพยาบาลหาดใหญ่แล้วอาการก็ไม่หาย
จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อต่อมาว่า นายวุฒิชัยต่อสายไฟดักหนูตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เรื่องในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าเวรเฝ้าสวนสาธารณะ เปิดไฟฟ้าตั้งแต่ตอนเย็นเป็นเหตุให้กระแสไฟฟ้าดูดเด็กชายสันติเป็นเรื่องการปฏิบัติงานตามหน้าที่ตามปกติโดยไม่รู้หรือไม่อาจคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 2 กับนายวุฒิชัยได้ต่อไฟฟ้าสายตรงและเสียบปลั๊กไฟไว้ตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นนั้น จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อและการต่อสายไฟดักหนูเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กระทำไปโดยพลการ จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือสั่งการให้กระทำ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วยอย่างไรก็ตามเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ปล่อยปละละเลยเด็กชายสันติให้ไปเล่นในที่หวงห้ามและได้มีการป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปโดยทำแนวรั้วทางมะพร้าวและมีป้ายเตือนไว้แล้ว เห็นว่าในข้อที่ว่าเป็นในทางการที่จ้างหรือไม่นั้น นายวุฒิชัยและจำเลยที่ 1ต่างทำหน้าที่ในสวนสาธารณะที่เกิดเหตุของจำเลยที่ 3การเสียบปลั๊กและปล่อยกระแสไฟฟ้าก็เพื่อป้องกันหนูไม่ให้มากัดทำลายต้นกล้าไม้ในสวนอันเป็นของจำเลยที่ 3 ย่อมเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น และข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อและจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยพลการ จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือสั่งการให้กระทำนั้นก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 3มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จึงเป็นฎีกานอกคำให้การศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ 3 ฎีกาว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์นั้น ปรากฏว่าโจทก์ในคดีนี้คือเด็กชายสันติ เพชรสงค์ ส่วนนายสุพรรณหรือสุบรรณ เพชรสงค์เป็นเพียงผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายในการดำเนินคดีนี้แทนเด็กชายสันติเท่านั้น มิได้เป็นโจทก์ในฐานะส่วนตัวจำเลยที่ 3 จะอ้างเอาการกระทำของนายสุพรรณซึ่งมิได้เป็นผู้ต้องเสียหายมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 หาได้ไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่านายสุพรรณประมาทเลินเล่อหรือไม่
จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นภาค 3 กำหนดค่าดูแลรักษาเด็กชายสันติเป็นเงิน 350,000 บาท และค่าเสียความสามารถประกอบการงานโดยสิ้นเชิงเป็นเงิน 150,000 บาท เป็นจำนวนที่สูงเกินไป ค่าดูแลรักษาเด็กชายสันติเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในอนาคต ศาลควรกำหนดให้เฉพาะค่ารักษาจริง ๆ ไม่รวมถึงค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งโจทก์จะต้องเสียเป็นปกติ ค่ารักษาพยาบาลไม่ควรเกินเดือนละ 500 บาท และกำหนดระยะเวลาให้ไม่เกิน 2 ปี เป็นเงิน 12,000 บาท สำหรับค่าเสียความสามารถประกอบการงานโดยสิ้นเชิง เด็กชายสันติ ยังเป็นเด็กไม่สามารถประกอบการงานมีรายได้จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 444 เห็นว่า เด็กชายสันติได้รับความเสียหายแก่ร่างกายถึงสมองฝ่อเป็นอัมพาตตลอดชีวิต พูดไม่ได้ ย่อมจะต้องได้รับการดูแลรักษาในสภาพที่ป่วยเจ็บจนกว่าจะถึงแก่ความตาย ตามสภาพเช่นนี้ค่าดูแลรักษาดังกล่าวที่จะต้องใช้จ่ายต่อไปจึงมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายอันต้องเสียไปอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดให้เสียหายแก่ร่างกายในอนาคตนั่นเองและเด็กชายสันติย่อมเสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสามได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงความเสียหายที่เด็กชายสันติได้รับดังกล่าว จำนวนเงิน 500,000 บาท ที่จำเลยทั้งสามจะต้องชดใช้หาได้ สูงเกินไปไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share