คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4856/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านเป็นผู้ค้ายาเสพติดซึ่งได้ดำเนินการมาหลายครั้งแล้ว จำนวนยาเสพติดที่ถูกดำเนินคดีและศาลพิพากษาลงโทษมีจำนวนมาก คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง30,653 กรัม แสดงว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ค้ารายใหญ่ จำนวนเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านทั้งสองบัญชีที่มีการนำเงินเข้าฝากครั้งละตั้งแต่ 1,000,000 บาท ขึ้นไป โดยเงินดังกล่าวโอนมาจากจังหวัดซึ่งเป็นแหล่งที่ผู้คัดค้านส่งเฮโรอีนไปจำหน่ายการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านหลายรายการก็กระทำในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการขนเฮโรอีน ดังนี้ เงินที่โอนเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านจึงมีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงแสดงให้เห็นว่าเป็นเงินที่ได้รับมาเนื่องจากกระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเฮโรอีนต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 29 วรรคสอง จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 3

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เงินฝากในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาห้าแยกพ่อขุนเม็งราย เลขที่บัญชี 537-0-10429-0 ชื่อบัญชีนางธิดาวรรณ วรรณสาร และเงินฝากในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) สาขาถนนประดิพัทธ์ เลขที่บัญชี 113-4-38523-4 ชื่อบัญชีนางรัศมีวรรณสาร เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องจากผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีคำสั่งให้อายัดบัญชีเงินฝากดังกล่าวข้างต้นพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 159/2542 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 ขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง 2 รายการ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 3, 15, 22, 27, 29, 31

พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นรวม 2 วัน ติดต่อกันแล้ว

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านและเจ้าของทรัพย์สินได้แสดงหลักฐานแจ้งชัดแล้วว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้อื่นและไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าว ขอให้ยกคำร้องและสั่งคืนทรัพย์สินของกลางแก่ผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ริบเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาห้าแยกพ่อขุนเม็งราย เลขที่บัญชี537-0-10429-0 ชื่อบัญชีนางธิดาวรรณ วรรณสาร และเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประดิพัทธ์เลขที่บัญชี 113-4-38523-4 ชื่อบัญชีนางรัศมี วรรณสาร ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องมีนายศิริชัย เทพนรินทร์ และนายสุนทรศิริแสง เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประจำจังหวัดสงขลา มาเบิกความว่า ได้สืบสวนและติดตามพฤติการณ์ของผู้คัดค้านจนทราบว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ค้ายาเสพติดจึงได้ดำเนินการจับกุมผู้คัดค้านนายมานิตย์และนายนิทัศน์และดำเนินคดีต่อมาในข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษบุคคลทั้งสาม ในการจับกุมผู้คัดค้านได้ตรวจค้นบ้านผู้คัดค้านพบบันทึกตามเอกสารหมาย ร.10 ซึ่งเป็นรหัสที่ใช้ติดต่อกับผู้ค้ายาเสพติดด้วยกันด้วยข้อเท็จจริงจากคำเบิกความและพยานหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ค้ายาเสพติดซึ่งได้ดำเนินการมาหลายครั้งแล้ว และเมื่อจำนวนยาเสพติดที่ผู้คัดค้านถูกดำเนินคดีและศาลพิพากษาลงโทษในคดีดังกล่าวมีจำนวนมาก คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 30,653 กรัม ก็แสดงว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ค้ารายใหญ่ ดังนั้น จำนวนเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านทั้งสองบัญชีที่มีการนำเงินเข้าฝากครั้งละตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป โดยเงินดังกล่าวโอนมาจากจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งที่ผู้คัดค้านส่งเฮโรอีนไปจำหน่าย การโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านหลายรายการก็กระทำในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการขนเฮโรอีนตามที่นายมานิตย์และนายนิทัศน์ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการขนเฮโรอีนให้แก่ผู้คัดค้าน 4 ครั้ง ดังนี้ เงินที่โอนเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านจึงมีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงแสดงให้เห็นว่าเป็นเงินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเฮโรอีน และต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ด้วย จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานว่าผู้คัดค้านมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้คัดค้านมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ตลอดทั้งมีรายได้ต่าง ๆ จากการค้าเพชร พลอย เป็นตัวแทนประกันของบริษัทรับประกันภัย ค้าขายปุ๋ยเคมีตลอดจนมีสวนลิ้นจี่และสวนเชอรี่ถึง 400 ไร่ มีบ้านพักอาศัยให้ผู้อื่นและนักศึกษาเช่าถึง 21 ห้อง และรายได้ปลีกย่อยอื่น ๆ เกี่ยวกับนายหน้าค้าที่ดินและค้าขายของชำย่อมแสดงถึงสถานะของผู้คัดค้านเกี่ยวกับรายได้ต่าง ๆ ในตัวถึงแม้ผู้คัดค้านจะเบิกความโดยไม่มีเอกสารอื่นใดมาประกอบก็ตาม เห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ค้ายาเสพติดดังได้วินิจฉัยมาแล้วส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่ามีอาชีพต่าง ๆ และมีรายได้นั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.12 ว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านอ้างสิทธิและพิสูจน์การได้มาของทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ ผู้คัดค้านก็ไม่ประสงค์จะชี้แจงและไม่ขอลงลายมือชื่อ ในชั้นพิจารณาผู้คัดค้านคงเบิกความว่ามีอาชีพต่าง ๆ แต่มิได้มีหลักฐานอื่นใดที่แสดงถึงรายได้ที่ได้รับมาเป็นจำนวนมากครั้งละ 1,000,000 บาท ขึ้นไป ผู้คัดค้านเบิกความเพียงว่าได้เดินทางไปจังหวัดสงขลาเดือนละครั้งนำสินค้ามูลค่าประมาณ 3,000,000 ถึง 4,000,000 บาทไปขายและโอนเงินจากจังหวัดสงขลาเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านเนื่องจากไม่ประสงค์จะถือเป็นเงินสด แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นไม่ว่าพยานบุคคลหรือพยานเอกสารที่แสดงถึงการซื้อขายสินค้ามาสืบประกอบเลย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเงินที่โอนจากจังหวัดสงขลาไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านเป็นเงินที่ได้มาจากการซื้อขายสินค้าดังที่อ้าง เมื่อผู้คัดค้านไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share