คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4853/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้น ป.พ.พ. มาตรา 1119 วรรคสอง บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาดมิให้หักหนี้กับบริษัทโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท จำเลยจึงไม่อาจยกบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 102 มาขอหักหนี้กับหนี้สิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาค้ำประกันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544
โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับ 1 จำนวน 5,000,000 บาท มูลหนี้อันดับ 2 จำนวน 16,316,62.10 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยโดยมูลหนี้อันดับ 2 ให้ได้รับชำระหนี้ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ในขณะเดียวกันโจทก์ที่ 2 ค้างชำระค่าหุ้นจำเลยจำนวน 10,000,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 30 มกราคม 2547 แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้องโดยอ้างว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 วรรคสอง ห้ามมิได้ผู้ถือหุ้นหักหนี้ค่าหุ้นของตนกับบริษัท โจทก์ที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากหนี้ที่โจทก์ที่ 2 นำมาขอหักกลบลบหนี้เป็นหนี้ที่โจทก์ที่ 2 ชำระหนี้แทนจำเลยแล้วนำมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ไม่ใช่หนี้ของโจทก์ที่ 2 โดยตรงอันจะมีผลให้ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 วรรคสอง แม้จะไม่เป็นหนี้ที่ไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็อาจหักกลบลบกันได้ การไม่อนุญาตให้หักกลบลบหนี้ทำให้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าหนี้สามารถขอรับชำระหนี้ได้แต่เพียงส่วนเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านรวบรวมมา แต่โจทก์ที่ 2 ต้องชำระหนี้ให้แก่จำเลยเต็มจำนวน ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 หักกลบลบหนี้ได้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยและค้างชำระค่าหุ้นจำเลยจำนวน 10,000,000 บาท ในขณะเดียวกันโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าหนี้จำเลยโดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ได้รับชำระหนี้สิทธิไล่เบี้ยตามสัญญาค้ำประกันในมูลหนี้อันดับ 2 จำนวน 16,316,621.10 บาท มูลหนี้อันดับ 1 จำนวน 5,000,000 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลย สำหรับมูลหนี้อันดับ 2 ให้ได้รับชำระหนี้ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 มีว่า โจทก์ที่ 2 มีสิทธินำหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับค่าหุ้นที่โจทก์ที่ 2 ค้างชำระจำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง หนี้ทั้งสองรายที่จะหักกลบลบหนี้ได้จะต้องมีวัตถุแห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน และต้องถึงกำหนดชำระแล้ว และตามมาตรา 342 วรรคหนึ่ง การหักกลบลบหนี้นั้นจะมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาหาได้ไม่ ส่วนในคดีล้มละลายพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 102 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ถึงแม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ได้ หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดีก็อาจหักกลบกันได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว” ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 102 บัญญัติเป็นทำนองยกเว้นเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และมาตรา 342 เท่านั้นว่า หนี้ซึ่งหักกลบลบกันไม่ได้ตามมาตรา 341 และมาตรา 342 นั้น อาจหักกลบลบกันได้ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ แต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 (เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้) ขอหักหนี้เงินที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางกับหนี้ค่าหุ้นที่โจทก์ที่ 2 เป็นหนี้จำเลยซึ่งมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หุ้นทุกๆ หุ้นจำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่” ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหุ้นที่โจทก์ที่ 2 ถือในบริษัทจำเลยเป็นหุ้นที่ออกตามมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221 ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้น มาตรา 1119 วรรคสอง บัญญัติในลักษณะห้ามโดยเด็ดขาดมิให้หักหนี้กับบริษัท โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยไม่อาจยกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 102 มาขอหักหนี้ได้ คำสั่งศาลล้มละลายกลางชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share