แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จโดยมีเจตนาเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ศาลเชื่อถึงที่มาของที่ดินทั้งสองแปลงอันเป็นเหตุที่มูลนิธิสีมาสงเคราะห์ควรจะได้กรรมสิทธิ์ แม้การเบิกความของจำเลยทั้งสองจะทำให้ทั้งโจทก์และสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ได้รับความเสียหาย แต่ก็เป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวซึ่งควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษเพียงครั้งเดียว เมื่อสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับคำเบิกความดังกล่าวว่าเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว ย่อมถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของนายเต็งอั้ว ผู้ตาย ตามคำสั่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในคดีหมายเลขแดงที่ 15647/2542 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 1 ในฐานะประธานมูลนิธิสีมาสงเคราะห์ (ตระกูลแซ่ซิ้ม) ได้ยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 9800/2541 อ้างว่า มูลนิธิที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 842 ตำบลบ้านทวาย อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 843 ตำบลยานนาวา (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความเท็จในคดีดังกล่าวซึ่งมีสาระสำคัญว่า ในปี 2476 เจ้าของที่ดินซึ่งมีทั้งหมด 6 คน ได้มอบที่ดินพร้อมโฉนดทั้งหมดให้แก่คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มเพื่อให้นำที่ดินดังกล่าวไปสร้างศาลเจ้าประดิษฐานเจ้าปู่บู๊เต็กโฮ้วสำหรับคนในตระกูลและบุคคลทั่วไปเคราพกราบไหว้ หลังจากนั้นคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มได้ก่อสร้างศาลเจ้าและล้อมรั้วบนที่ดินทั้งสองแปลง ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วเจ้าของที่ดินทั้งหกไม่ได้ส่งมอบหรือยกที่ดินพร้อมโฉนดทั้งสองแปลงให้แก่คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความ แต่เจ้าของที่ดินทั้งหกเป็นคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มและร่วมกันซื้อที่ดินสร้างศาลเจ้าและปกครองดูแลที่ดินทั้งสองแปลงร่วมกับคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มคนอื่นโดยไม่ยินยอมยกที่ดินหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ใดจนทุกคนถึงแก่กรรมและต่อมาทายาทหรือผู้จัดการมรดกของแต่ละคนได้เข้ามาถือกรรมสิทธิ์แทนเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกผู้ตาย ซึ่งในส่วนของโจทก์นั้น บิดาของโจทก์ถึงแก่กรรมตั้งแต่ปี 2486 โจทก์ก็ได้แสดงตนต่อคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มว่าเป็นทายาทของนายเต็งฮั้วซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งในหกของผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยโจทก์เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มแทนบิดาและแสดงตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงแทนบิดา นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้เบิกความเท็จในประเด็นสำคัญอีกว่า นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2476 เป็นต้นมา คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 842 และ 843 ด้วยความสงบ เปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของจนกระทั่งปี 2506 เป็นเวลา 30 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อผู้ร้องจดทะเบียนเป็นมูลนิธิแล้วผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 842 และ 843 ด้วยความสงบ เปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 34 ปี แล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว เมื่อปี 2508 ถึงปี 2509 จำเลยที่ 2 และนายกลิ่น กรรมการของมูลนิธิไปติดต่อหาเจ้าของที่ดินทั้งหกเพื่อให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่มูลนิธิ แต่ทราบว่าบุคคลทั้งหกถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว คงพบแต่พันตำรวจเอก จรูญ ทายาทของพระยาสีมานนท์ และนายนภา ทายาทของนายฮั้นตี๋บุคคลทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนแก่มูลนิธิแล้ว ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จในประเด็นสำคัญ เพราะความจริงแล้วคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มไม่ได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 842 และ 843 ด้วยความสงบ เปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของ และมูลนิธิก็ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงสืบต่อจากคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มแต่อย่างใด แต่มูลนิธิเกิดจากคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งธนบุรี ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2506 โดยตั้งศาลเจ้าและสำนักงานมูลนิธิบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1517 ตำบลไส้ไก่ อำเภอบุคคลโล (บางกอกใหญ่) จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร) ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งพระนครที่บิดาโจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เหตุที่ต้องตั้งคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้ม ฝั่งพระนคร เพราะบิดาโจทก์และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นต้องการให้ตั้งศาลเจ้าไว้สำหรับคนในตระกูลแซ่ซิ้มและบุคคลทั่วไป เคารพบูชาที่ฝั่งพระนคร ไม่ต้องเดินทางไปที่ศาลเจ้าตระกูลแซ่ซิ้มที่ฝั่งธนบุรี เพราะการคมนาคมในเวลานั้นลำบาก ไม่สะดวกในการเดินทางไปกราบไหว้ และต่อมาคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งพระนครได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ และครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงร่วมกับทายาทของเจ้าของที่ดินเดิมตลอดมา และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 2 เบิกความเท็จในสาระสำคัญว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทั้งหมดในที่ดินทั้งสองแปลงได้ยกที่ดินให้แก่ตระกูลแซ่ซิ้ม โดยจัดตั้งศาลเจ้าปู่บู๊เต็กโฮ้ว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปกราบไหว้บูชา และทำการก่อสร้างศาลเจ้าบนที่ดินทั้งสองแปลง ตั้งแต่ปี 2476 ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วเจ้าของที่ดินทั้งหกไม่ได้ส่งมอบหรือยกที่ดินพร้อมโฉนดทั้งสองแปลงให้แก่คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้ม แต่เจ้าของที่ดินทั้งหกเป็นคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มและเป็นบุคคลสำคัญในการซื้อที่ดินและร่วมกันสร้างศาลเจ้า ปกครองดูแลที่ดินทั้งสองแปลงร่วมกับคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มคนอื่น โดยไม่ยินยอมยกให้หรือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ใดจนทุกคนถึงแก่กรรม และทายาทหรือผู้จัดการมรดกจะเข้ามามีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนเฉพาะส่วนของเจ้ามรดก โดยบิดาโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งในหกที่เป็นเจ้าของที่ดินถึงแก่กรรมเมื่อปี 2486 และโจทก์ได้แสดงตนเป็นทายาทและแสดงตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทนบิดา โดยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มแทนบิดา และต่อมาศาลได้แต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของบิดานอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเบิกความเท็จในสาระสำคัญอีกว่า ในการครอบครองที่ดินที่ใช้สร้างศาลเจ้าดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมานั้น ไม่มีใครโต้แย้งกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด คณะกรรมการได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลาดมาจนถึงปี 2506 คณะกรรมการได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ จากนั้นจึงได้ครอบครองในฐานะมูลนิธิตลอดมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มก่อนที่จะเปลี่ยนฐานะเป็นมูลนิธิตระกูลแซ่ซิ้มในปี 2507 นั้น เป็นบุคคลคนเดียวกันมาโดยตลอด จำเลยที่ 2 เคยติดต่อเจ้าของรวมในที่ดินทั้งสองแปลงเพื่อให้แก้ไขกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง แต่เจ้าของร่วมทั้งหกคนนั้นจำเลยที่ 2 ไม่สามารถติดตามหาตัวได้ พบเฉพาะทายาทของพระยาสีมานนท์ปริญญาและทายาทของนายฮั้นตี๋เท่านั้น ต่อมาทายาททั้งสองคนดังกล่าวยินยอมแก้ชื่อให้กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของมูลนิธิเมื่อปี 2510 จำเลยที่ 2 ไปติดต่อทางสำนักงานที่ดินเพื่อขอให้แก้ชื่อทางทะเบียนจากเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินดังกล่าวให้มาเป็นของมูลนิธิ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถแก้ไขได้โดยแนะนำให้จำเลยที่ 2 ไปยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้มูลนิธิมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์ก่อน ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงแล้วคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มไม่ได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงด้วยความสงบ เปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของแต่มูลนิธิเกิดจากคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งธนบุรีจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อปี 2506 ตั้งศาลเจ้าและสำนักงานมูลนิธิบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1517 ตำบลบางไส้ไก่ อำเภอบุคคโล (บางกอกใหญ่) จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร) ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งพระนครที่มีบิดาโจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เพราะบิดาโจทก์และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นต้องการให้มีการตั้งศาลเจ้าไว้สำหรับคนในตระกูลแซ่ซิ้มและบุคคลทั่วไปเคราพบูชาที่ฝั่งพระนคร ไม่ต้องเดินทางไปศาลเจ้าตระกูลแซ่ซิ้มที่ฝั่งธนบุรี เนื่องจากการคมนาคมในเวลานั้นลำบากไม่สะดวกในการเดินทาง ต่อมาคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งพระนครได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์และครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงร่วมกับทายาทของเจ้าของที่ดินเดิมตลอดมา ซึ่งจำเลยทั้งสองทราบดีว่าโจทก์เป็นทายาทของนายเต็งฮั้ว และทราบถึงทายาทของเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง การเบิกความเท็จของจำเลยทั้งสองเป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้ศาลหลงเชื่อและมีคำสั่งให้มูลนิธิสีมาสงเคราะห์ (ตระกูลแซ่ซิ้ม) ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลง ทำให้โจทก์เสียหาย ต้องเสียสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ข้อความที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเบิกความเท็จ สมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์เคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นฐานเบิกความเท็จ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีดังกล่าวว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่อาจนำเอาการเบิกความของจำเลยทั้งสองมาฟ้องเป็นคดีนี้ได้อีกเพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้ว คดีโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ข้อความที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองเบิกความจะเป็นเท็จ ข้อความนั้นก็มิใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ทั้งสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์เคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฐานเบิกความเท็จเกี่ยวกับคดีนี้มาก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีนี้มาฟ้องจึงระงับ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกววินิจฉัยว่า “ตามทางไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า โจทก์เป็นบุตรของนายซิมเต็งอั้ว และนางเฮงมุ่ยเอง เดิมบิดาโจทก์เป็นเจ้าของโรงสีและส่งข้าวสารออกนอกประเทศ มีฐานะดี บิดาโจทก์และนายเจือเกียหรือจือเกีย เป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ร่วมกับคนจีนตระกูลแซ่ซิ้มเพื่อซื้อที่ดินสองแปลงในปี 2471 เพื่อสร้างศาลเจ้าปู่บู๊เต็กโฮ้ว ต้นตระกูลแซ่ซิ้มไว้ให้ลูกหลานสักการบูชาเป็นที่ดินบริเวณถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาสารบัญจดทะเบียนใบต่อเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ตรงเครื่องหมายดอกจันสีแดง ต่อมามีการเพิ่มชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสองแปลงเป็น 6 คน ได้แก่ พระยาสีมานนท์ปริญญา นายเต็งอั้ว นายแข่ง ผู้จัดการมรดกของนายจือเกีย นายโปม่วย นายเก๊าะซิว และนายฮั้นตี๋ แล้วภายหลังจึงได้ตั้งคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มขึ้นเพื่อบริหารงานก่อตั้งศาลเจ้าปู่ ซึ่งก่อนที่จะสร้างศาลเจ้าดังกล่าวขึ้นมีศาลเจ้าตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งธนบุรีมาก่อนแล้วหลายสิบปี แต่คณะกรรมการศาลเจ้าฝั่งธนบุรีไม่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าปู่แห่งนี้ หลังจากซื้อที่ดินได้ประมาณ 5 ถึง 6 ปี ก็สร้างศาลเจ้าปู่เสร็จ เมื่อประมาณปี 2505 ถึง 2508 ตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งธนบุรีได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิสีมาสงเคราะห์ (ตระกูลแซ่ซิ้ม) และปี 2511 ตระกูลแซ่ซิ้ม ตรอกจันทน์ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ (ตระกูลแซ่ซิ้ม) โดยต่างคนต่างบริหารงาน แต่ในปี 2510 พันตำรวจเอกจรูญ ทายาทของพระยาสีมานนท์ปริญญา และนายนภา ทายาทของนายฮั่นตี๋ ได้โอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่มูลนิธิสีมาสงเคราะห์ (ตระกูลแซ่ซิ้ม) โดยที่ดินอีก 4 ใน 6 ส่วน ยังเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมและทายาท ต่อมาประมาณปี 2542 โจทก์ทราบว่ามูลนิธิสีมาสงเคราะห์ (ตระกูลแซ่ซิ้ม) จะขับไล่สมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ออกจากที่ดิน โจทก์จึงให้ทนายความตรวจสอบพบว่าประมาณเดือนพฤษภาคม 2541 มูลนิธิดังกล่าวได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอครอบครองปรปักษ์ในที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ตั้งอยู่ โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความต่อศาลในคดีที่มูลนิธิสีมาสงเคราะห์ (ตระกูลแซ่ซิ้ม) ร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 9800/2541 คดีหมายเลขแดงที่ 7203/2542 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์จึงได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายซิมเต็งฮั้ว และศาลได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 โดยโจทก์ประสงค์จะปกป้องทรัพย์มรดกบิดาเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองที่เบิกความไว้ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 เบิกความว่า เจ้าของที่ดินทั้งหกรวมถึงบิดาโจทก์ยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้ม ความจริงแล้วเจ้าของที่ดินเดิมทั้งหกรวมทั้งบิดาโจทก์ไม่ได้ยกที่ดินให้คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มแต่ได้ร่วมกับคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งพระนครก่อสร้างศาลเจ้าและครอบครองบริหารที่ดินทั้งสองแปลงร่วมกันตลอดมาจนเจ้าของที่ดินทั้งหกถึงแก่กรรม แล้วทายาทและผู้จัดการมรดกเข้ามาถือกรรมสิทธิ์และครอบครองแทนจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้เบิกความว่า คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงมาตั้งแต่ปี 2476 และเป็นผู้ซ่อมแซมบูรณะศาลเจ้าเป็นเวลา 34 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2476 คณะกรรมการที่อยู่บนที่ดินทั้งสองแปลงเป็นคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งพระนคร มิใช่ฝั่งธนบุรี ทั้งไม่เคยบูรณะซ่อมแซมศาลเจ้าแต่อย่างใด เพราะไม่ได้ครอบครองแต่แรก ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความไว้ในคดีดังกล่าวว่า คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มได้รับเอาที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งเจ้าของที่ดินทั้งหกยกให้ และจัดสร้างศาลเจ้าล้อมรั้วและสร้างหอประชุม ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วเจ้าของที่ดินทั้งหกไม่เคยยกกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่คณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งธนบุรีแต่อย่างใด ผู้ก่อสร้างศาลเจ้าคือคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งพระนครซึ่งร่วมกับเจ้าของที่ดินทั้งหกครอบครองที่ดินทั้งสองแปลง และต่อมาคณะกรรมการตระกูลแซ่ซิ้มฝั่งพระนครจดทะเบียนเป็นสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ และสมาคมเป็นผู้สร้างหอประชุมสองหลัง บูรณะและทำรั้วกำแพงคอนกรีตโดยรอบ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเบิกความว่า ไม่สามารถติดตามหาเจ้าของที่ดินหรือทายาทอื่นๆ ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะยังมีทายาทเจ้าของที่ดินเดิมอีก 3 คน ซึ่งจำเลยที่ 2 รู้จักดี แต่ทายาททั้งสามไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่มูลนิธิ ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการอยู่ การเบิกความของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายซิมเต็งฮั้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในหกของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินสองแปลงได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองเคยถูกสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ฟ้องฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง สมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีไม่มีมูลพอฟังว่าจำเลยทั้งสองเบิกความเท็จ พิพากษายืน คดีถึงที่สุด คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชั้นฎีกาว่า สิทธินำคดีนี้มาฟ้องระงับไปแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อแรกสรุปทำนองว่าข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้มีเนื้อหาต่างจากข้อความในคดีก่อนเป็นข้อความคนละตอน แม้จำเลยทั้งสองจะเบิกความในวันเดียวกันแต่ก็ประสงค์ต่อผลการกระทำที่ต่างกันโดยใช้ถ้อยคำอย่างหนึ่ง มุ่งทำร้ายสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ และใช้ถ้อยคำอีกอย่างหนึ่งมุ่งทำร้ายโจทก์ จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ต่างกรรมกัน กรรมแรกมีสมาคมเป็นผู้เสียหายและกรรมที่สองมีโจทก์เป็นผู้เสียหาย ทั้งสมาคมและโจทก์ต่างมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้นั้น เมื่อได้พิจารณาคำฟ้องคดีนี้เปรียบเทียบกับคำฟ้องที่สมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า คำฟ้องทั้งสองสำนวนมีเนื้อหาเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคำเบิกความส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงที่ใช้สร้างศาลเจ้า คำเบิกความส่วนที่เกี่ยวกับการครอบครองที่ดินหรือคำเบิกความส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การที่จำเลยทั้งสองเบิกความจึงมีเจตนาเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ศาลเชื่อถึงที่มาของที่ดินทั้งสองแปลงอันเป็นเหตุที่มูลนิธิสีมาสงเคราะห์ (ตระกูลแซ่ซิ้ม) ควรจะได้กรรมสิทธิ์ แม้การเบิกความของจำเลยทั้งสองจะทำให้ทั้งโจทก์และสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ได้รับความเสียหาย แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองก็คงเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวซึ่งควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษเพียงครั้งเดียวตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับคำเบิกความดังที่กล่าวว่าเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ และทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจนคดีถึงที่สุดไปแล้วย่อมถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป ปัญหาที่ว่าข้อความส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองเบิกความเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน