คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4851/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 24 และ 25 การที่บุคคลล้มละลายจำนองที่ดินของตนแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นภายหลังที่ศาลได้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อันมีผลผูกพันในที่ดินที่จะต้องถูกบังคับคดีในที่สุดหากไม่ชำระหนี้ และฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นิติกรรมจำนองจึงตกเป็นโมฆะ มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย แม้หากการกระทำของลูกหนี้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์และมีหนี้ที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่หนี้ดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่มีอาจนำมาขอยื่นรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 27,91 และ 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยโดยตรง โจทก์จะฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของนายประพนธ์นำเงินจากกองทรัพย์สินของนายประพนธ์มาชดใช้ให้แก่โจทก์จำนวน 31,338,452.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน18,600,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงว่า ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอ้างมูลละเมิดของนายประพนธ์ ประทีป ณ ถลาง บุคคลล้มละลายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่12 ธันวาคม 2534 อันเป็นเวลาภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายประพนธ์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นมูลหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และไม่มีผลกระทบถึงทรัพย์สินที่อยู่ในอำนาจจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งมิใช่กรณีคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีตามมาตรา 25 กรณีจึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า มูลหนี้ตามฟ้องเกิดจากการกระทำละเมิดของนายประพนธ์ ประทีป ณ ถลาง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้นายประพนธ์เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้โจทก์ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงไม่มีผลกระทบถึงทรัพย์สินของนายประพนธ์ที่อยู่ในอำนาจจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในอันที่โจทก์จะฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์ของนายประพนธ์เป็นคดีนี้ ที่ศาลสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 18 จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมเป็นสั่งไม่รับฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ทั้งหมด

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได้ว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายประพนธ์ ประทีป ณ ถลาง เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.34/2531 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2531 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 มกราคม2532 ขณะนี้ยังไม่พ้นภาวะล้มละลายดังกล่าว ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2534 อันเป็นเวลาภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายประพนธ์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายดังกล่าว นายประพนธ์ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1172 และ 16224 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของผู้มีชื่อไว้แก่ธนาคารยูโอบี รัตนสิน จำกัด (มหาชน)ในวงเงิน 18,600,000 บาท ซึ่งต่อมาธนาคารดังกล่าวได้โอนสิทธิและหน้าที่รวมทั้งหลักประกันที่มีต่อลูกหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายประพนธ์หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า มูลหนี้ตามฟ้องของโจทก์นั้น แม้จะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายประพนธ์เด็ดขาดแล้ว แต่ฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นการเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากบุคคลล้มละลายกระทำละเมิด จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3)มิใช่เป็นการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย และมิใช่กรณีขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้หลังจากพ้นระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว จึงเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้ามาต่อสู้คดีแทนลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า”เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้”และมาตรา 25 บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้” บทบัญญัติทั้ง 2 มาตราดังกล่าว แสดงว่าการที่นายประพนธ์จำนองที่ดินของตนแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นภายหลังที่ศาลได้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อันมีผลผูกพันในที่ดินที่จะต้องถูกบังคับคดีในที่สุดหากไม่ชำระหนี้และฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะไม่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นิติกรรมจำนองจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังที่ศาลพิพากษาให้นายประพนธ์เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จึงมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามบทบัญญัติที่กล่าวมาอีกด้วย แม้หากการกระทำของนายประพนธ์จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์และมีหนี้ที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ก็ตามแต่หนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่อาจนำมาขอยื่นรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 27, 91 และมาตรา 94 โจทก์ชอบที่จะฟ้องลูกหนี้ผู้ทำละเมิดเป็นจำเลยโดยตรง โจทก์จะฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้หาได้ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share