แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 45 บัญญัติให้มีคณะกรรมการลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นตัวแทนของลูกจ้างในการเข้าร่วมประชุมกับนายจ้างเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง ปรึกษาหารือเพื่อกำหนดข้อบังคับในการทำงานพิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้างและหาทางปรองดอง รวมทั้งระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบการตามมาตรา 50 โจทก์ตกลงทำงานให้บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อรับค่าจ้างอันมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 อันมีฐานะเป็นนายจ้างด้วยตามมาตรา 5 ซึ่งฐานะนายจ้างและลูกจ้างนั้นจะมีผลประโยชน์บางส่วนที่ขัดกัน การที่สหภาพแรงงานพนักงานทีพีไอมีมติแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการประชุมระหว่างนายจ้างกับคณะกรรมการลูกจ้างตามมาตรา 50 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้าง และไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 ของบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2521 จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม2543 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้าง และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันย้ายตำแหน่งของโจทก์จากประธานเจ้าหน้าที่บริหารซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไปเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตศาลแรงงานก่อนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงเป็นการย้ายตำแหน่งโดยมิชอบ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันเพิกถอนคำสั่งย้ายโจทก์จากประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยที่ 1 ไปเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 กลับมาทำงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยที่ 1 ตามเดิม
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้ที่แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างไม่มีอำนาจแต่งตั้งโจทก์ โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1ซึ่งถือเป็นนายจ้าง และมีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การให้บำเหน็จ และการลงโทษลูกจ้างอื่นซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาการแต่งตั้งให้โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกันย้ายโจทก์จากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยที่ 1 ไปเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 เพียงแต่จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ให้ทราบว่าโจทก์ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใด ๆ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยที่ 1 อีกต่อไปเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างเนื่องจากการแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างขัดต่อวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 15มีนาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 สหภาพแรงงานพนักงานทีพีไอได้แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างตามบันทึกการประชุมครั้งที่ 2/2543 และมีหนังสือแจ้งผลการแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างให้จำเลยที่ 2 และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบตามเอกสารหมาย จ.5 เห็นว่าการที่กฎหมายบัญญัติให้มีคณะกรรมการลูกจ้างตามมาตรา 45แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นตัวแทนของลูกจ้างในการเข้าร่วมประชุมกับนายจ้างเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างปรึกษาหารือเพื่อกำหนดข้อบังคับในการทำงานพิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้าง และหาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบกิจการตามมาตรา 50 แม้โจทก์จะเป็นผู้ตกลงทำงานให้บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อรับค่าจ้างอันมีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1อันมีฐานะเป็นนายจ้างด้วยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5ซึ่งฐานะนายจ้าง ลูกจ้างนั้น จะมีผลประโยชน์บางส่วนที่ขัดกัน ดังนั้น การที่สหภาพแรงงานพนักงานทีพีไอมีมติแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการประชุมระหว่างนายจ้างกับคณะกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 50 การที่สหภาพแรงงานพนักงานทีพีไอมีมติแต่งตั้งให้โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง ย่อมไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างและไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน